xs
xsm
sm
md
lg

รับผู้ป่วยมะเร็งปอด 100 ราย รับยาฝีมะเร็งทรวงฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รพ.ยศเส เปิดรับผู้ป่วยมะเร็งปอด 100 ราย ทดลองรับยาตำรับฝีมะเร็งทรวงฟรี หลังทดลอง 50 คนแล้วได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย อาการเหนื่อย หายใจหอบ ไอมีเลือดลดลง

นพ.วัฒนะ พันธุ์ม่วง ผอ.โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ อนุมัติการใช้ยาตำรับฝีมะเร็งทรวง ในการรักษามะเร็งปอด เพื่อการทดลองทางคลินิก จึงได้มีการทดลองการใช้ยาในมนุษย์ 50 ราย พบว่า ให้ผลค่อนข้างดี ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจหอบ และ ไอลดลง โดยเฉพาะการไอที่มีเลือดปน สามารถทานได้มากขึ้น ล่าสุด  รพ.ยศเส ได้เปิดรับสมัครผู้ป่วยมะเร็งปอดอีก 100 คน เข้าร่วมโครงการเพื่อรักษาและรับยาตำรับดังกล่าวฟรี 

ตำรับนี้ไม่มีการปิดบังสูตร เนื่องจากเป็นตำรับยาที่มีบันทึกในคำภีร์โบราณอยู่แล้ว ส่วนสมุนไพรที่นำมาปรุงยาน้ำ ก็เป็นสมุนไพรที่สามารถพบได้ทั่วไปในท้องตลาด ประกอบด้วย ข่าลิง สักขี จันทน์ขาว จันทน์แดง ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ว่านร่อนทอง ว่านกลีบแรด เถาวัลย์เปรียง รากไม้รวก และสุราพื้นบ้าน 40 ดีกรี อย่างไรก็ตาม วิธีการผลิตนั้นต้องผ่านกระบวนการสกัดและผลิตจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะต้องมีการกำหนดขนาด และโดสที่ชัดเจน  ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลที่ผลิตก็ต้องผ่านมาตรฐาน GMP ด้วย ซึ่งของเราผลิตที่โรงพยาบาลอู่ทอง ” นพ.วัฒนะ กล่าว

นพ.วัฒนะ กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยทุกระยะที่จะเข้าร่วมโครงการ ให้ไปยื่นความจำนงได้ที่ยศเส โดยผู้ป่วยต้องเดินทางมาสมัครด้วยตนเอง เพราะแพทย์ต้องทำการตรวจร่างกายและดูประวัติการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน ร่วมถึงดูข้อบ่งชี้ต่างๆ เช่น ผลการส่องกล้องที่ระบุว่าเป็นมะเร็งปอดจริง เป็นต้น ทั้งนี้ หวังว่า ตำรับดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ได้นานขึ้น สำหรับผลข้างเคียงที่ทำการทดลองในคนไข้จำนวน 50 คน พบว่า มีผลข้างเคียงน้อย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนในบางราย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบางรายที่อยู่ในระยะสุดท้าย มีระบบการหายใจที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ป่วยทั้ง 50 คน ที่เข้าร่วมโครงการนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย และบางรายหยุดการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว แต่จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยที่จะมาเข้าร่วมโครงการไม่จำเป็นต้องหยุดการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันก็มาเข้าร่วมโครงการกับเราได้ เนื่องจากจริงๆแล้วเราต้องการที่จะรักษาแบบผสมผสาน เพราะสิ่งที่เราคาดหวังคือต้องการให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น