xs
xsm
sm
md
lg

ส่งหน่วยแพทย์ครบชุดช่วยแผ่นดินไหวเนปาล วางแผนช่วยเหลือ 4 ด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เตรียมส่งหน่วยแพทย์ครบชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาล วันที่ 27 เม.ย. พร้อมวางแผนช่วยเหลือ 4 ด้าน จัดส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินสถานการณ์ ทั้งการรักษา การคุมโรค สุขภาพจิต และจัดการศพ แต่ละทีมประจำ 2 สัปดาห์ก่อนหมุนเวียนทีมสำรอง

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. กำลังเตรียมความพร้อมส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล โดยกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศว่าประเทศต้นทางต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ประสานกับสถานทูตไทยในเรื่องการเดินทาง รวมถึงประสานกับแพทย์ทหารด้วย สำหรับ สธ. มี 2 หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้านภัยพิบัติ คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) โดยจะประสานงานร่วมกับศูนย์เตรียมพร้อมบรรเทาภัยพิบัติแห่งเอเชีย (เอดีพีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องภัยพิบัติอย่างดี ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลัง 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ จะมีความต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ สธ. ก็จะมีการส่งทีมแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไปช่วยเหลือด้วย ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์ได้เตรียมทีมไว้แล้ว โดยวันที่ 27 เม.ย. จะมีการประชุมหารืออย่างชัดเจนอีกครั้งว่า จะส่งทีมใดไปเมื่อไรอย่างไร

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ได้เตรียมส่งทีมแพทย์ประกอบไปด้วยศัลยแพทย์ แพทย์กระดูก และจิตแพทย์ จากกรมการแพทย์ 1 ทีม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1 ทีม และ รพ.ศิริราช อีก 1 ทีม ไปตั้ง รพ. สนาม เพื่อรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล พร้อมด้วยยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ด้วยซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเดินทางได้ใน 2 วันนี้

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สธฉ. และ สพฉ. จัดเตรียมหน่วยแพทย์ครบชุด ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการควบคุมโรค นักจิตวิทยาพร้อมเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ วัคซีนป้องกันโรค เช่น บาดทะยัก รวมทั้งชุดทำแผลต่างๆ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีบาดแผลซึ่งคาดว่าจะมีความจำเป็นมาก โดยทีมชุดแรกมีประมาณ 30 คน พร้อมจะเดินทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ให้ตั้งศูนย์ปฎิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สำนักงานปลัด สธ. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายใน อาทิ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ทีมส่วนภูมิภาคในสังกัด และสหวิชาชีพจากหน่วยงานภายนอก อาทิ ศิริราช รามาธิบดี โรงพยาบาลภูมิพลฯ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เป็นต้น จำนวน 3 ทีม พร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่ 3 จุด และติดตามประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด

“การให้ความช่วยเหลือประเทศเนปาลของหน่วยแพทย์ไทยได้วางแผนไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย อาจมีทั้งการให้เจ้าหน้าที่ไทยร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนปาลในโรงพยาบาลเนปาล ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่รับความเสียหาย หรืออาจปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อยๆ 1 โรงพยาบาล หรืออาจปฏิบัติเป็นหน่วยแพทย์บริการเคลื่อนที่ขนาดเท่ากับแผนกผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลชุมชน รูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงในพื้นที่ 2. การควบคุมโรค และการรักษาความสะอาด ของสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่ม เพื่อป้องกันโรคไม่ให้เกิดซ้ำเติม ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 3. การดูแลสุขภาพจิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สูญเสีย ไร้ญาติ ผู้สูงอายุ เด็ก และอาจร่วมค้นหาผู้รอดชีวิต 4. การจัดการศพ และการพิสูจน์เอกลักษณ์ศพ เป็นต้น” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ในการวางแผนการช่วยเหลือแต่ละด้าน สธ.จะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ลงไปประเมินสถานการณ์ เพื่อนำมาวางแผนจัดระบบการช่วยเหลืออย่างครบถ้วน ขณะเดียวกัน ได้ระดมหน่วยแพทย์สำรองไว้อย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเดินทางไปสับเปลี่ยนหรือเสริมการปฏิบัติงานเพิ่มเติมในจุดที่จำเป็น โดยจะให้แต่ละทีมอยู่ปฏิบัติการทีมละ 2 สัปดาห์ เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ภาคสนามไปให้พร้อม เช่น อาหาร น้ำ เครื่องครัว เครื่องปั่นไฟ ระบบการสื่อสาร เพื่อความคล่องตัว ไม่เป็นภาระของประเทศเนปาล

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น