xs
xsm
sm
md
lg

อย.จ่อสอบ “อาหารเสริม” อ้างต้านเชื้อเอดส์ เอาผิดฐานโฆษณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.บุญชัน สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. (แฟ้มภาพ)
อย. จ่อตรวจสอบ “อาหารเสริม” อ้างต้านเชื้อเอชไอวีได้ ชี้อาหารเสริมห้ามโฆษณาในการรักษา พร้อมเรียกดูผลวิจัยโอ้อวดเกินจริงหรือไม่ ย้ำให้ผู้ป่วยพูดแทนแต่เชื่อมโยงถึงผลิตภัณฑ์ถือว่าผิดด้านโฆษณาเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากบริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดจากพืช 5 ชนิด ได้แก่ มังคุด ฝรั่ง งาดำ ถั่วเหลือง และ ใบบัวบก โดยระบุว่าสามารถเพิ่มค่าเม็ดเลือดขาว (CD4) ได้มากถึง 5 เท่า ซึ่งช่วยให้เชื้อไวรัสเอชไอวีลดลง จนเกิดกระแสกังวลว่า จะเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ เนื่องจากจดทะเบียนเป็นอาหารเสริม ไม่ใช่ยา

ล่าสุด วันนี้ (24 เม.ย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องนี้กังวลว่าหากสื่อสารผิดพลาดอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเอดส์เลิกกินยาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งนี้ จากการพิจารณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของบริษัทดังกล่าวแล้วนั้น พบว่า มีการยื่นขอจดทะเบียนกับ อย. ในรูปแบบของอาหารเสริมเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยสรรพคุณในเรื่องการบรรเทาหรือรักษาโรคได้ ซึ่ง อย.จะดำเนินการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวต่อไปว่ามีการโฆษณาในเรื่องการรักษาหรือไม่ และการโฆษณาเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่

การออกมาพูดถึงสรรพคุณแล้วมีการพูดหรือแสดงที่เชื่อมโยงไปถึงผลิตภัณฑ์ ถือว่ามีวัตถุประสงค์ในการโฆษณา ซึ่ง อย. จะตรวจสอบจากงานแถลงข่าว รวมถึงดูด้วยกรณีที่นำผู้ป่วยมาพูดสรรพคุณแทนว่ามีการพูดที่เชื่อมโยงไปถึงผลิตภัณฑ์หรือไม่ หากพูดถึงก็ถือว่าผิดการโฆษณา ส่วนการตรวจสอบว่าจะเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่นั้น จะดูจากผลวิจัยที่บริษัทอ้างอิงถึงว่ารองรับมากน้อยเพียงใด” เลขาธิการ อย. กล่าวและว่า นอกจากนี้ จากการติดตามข่าวพบว่ามีการอ้างบางหน่วยงานที่ให้การผลรับรองการวิจัยด้วย อย.ก็จะทำเรื่องสอบถามไปยังหน่วยงานดังกล่าวว่ามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาสารสกัดและนำไปทดลองในมนุษย์ด้วยหรือไม่ ทั้งสภากาชาดไทย และศูนย์เทคโนโลยีชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการถูกอ้างถึงทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุป ไม่อยากให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในสังคม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำวิจัยรองรับแต่ละพื้นที่จำนวนเพียง 20 กว่าคนนั้น ถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่ นพ.บุญชัย กล่าวว่า อาหารเสริมจะต้องมีการศึกษาสารอาหารที่ชัดเจน ความเป็นพิษต้องไม่มี ซึ่งสามารถนำมาใช้เคลมด้านสุขภาพหรือบอกสรรพคุณได้ในระดับหนึ่ง เช่น แคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก เป็นต้น แต่ไม่ได้อนุญาตให้บรรยายสรรพคุณในการรักษา ขณะนี้มีการหารือกันในภูมิภาคอาเซียนว่าอาหารเสริมจะให้สามารถบรรยายสรรพคุณได้ในระดับใด เพราะต่างก็เป็นปัญหาในทุกประเทศในการบรรยายสรรพคุณการรักษา สำหรับการพิจารณาว่าต้องการให้เป็นเหมือนยา ก็ต้องมีขั้นตอนที่ถูกต้องด้วย ทั้งการทดสอบในสัตว์ทดลอง การทดลองในมนุษย์ ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่การทดลองเพียงไม่กี่ 10 คน หรือกลุ่มเล็กๆ ที่สำคัญ ต้องมีการทดลอง 3 ระยะเป็นอย่างต่ำ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


แฟ้มภาพเมื่อวันแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างต้านเชื้อเอชไอวีได้
กำลังโหลดความคิดเห็น