xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ชี้ 3 ปีลดเด็กไม่ได้แจ้งเกิดใน 15 วันลง 3.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สปสช. เผยเดินหน้า “โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิด” ร่วม สธ. รพ.ทั่วประเทศ ก.มหาดไทย ช่วยลดเด็กแรกเกิดไม่ได้จดทะเบียนเกิน 15 วันลง จาก 7% เหลือ 3.5% รับยังไม่ถึงเป้าตามองค์การยูนิเซฟ ชี้อยู่ในช่วงพัมนาระบบเพื่อขยายผล หวังช่วยเด็กเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิ

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในอดีตพบเด็กเกิดในไทยประมาณ 800,000 รายต่อปี มีเด็กที่ไม่ได้จดทะเบียนเกิดร้อยละ 7 หรือ 60,000 รายต่อปี ถือเป็นจำนวนไม่น้อย สาเหตุหนึ่งมาจากพ่อแม่ความเข้าใจผิด คิดว่าหนังสือรับรองการเกิดที่ได้จากโรงพยาบาลเป็นใบสูติบัตร และขาดระบบการติดตามเพื่อให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองนำเด็กมาจดทะเบียนเกิด ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลในระบบบัตรทอง แต่จากการดำเนินโครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิด ร่วมกับองค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) พบว่า ช่วยให้เด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดสะสมเกิน 15 วันลดลง

“การดำเนินงานนั้น ทันทีที่มีเด็กเกิดใหม่ใน รพ. เจ้าหน้าที่ของ รพ. จะบันทึกข้อมูลเกิดลงในระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทยว่ามีเด็กเกิดใหม่ พร้อมกันนี้ จะพิมพ์หนังสือรับรองการเกิดให้บิดามารดา เพื่อนำไปแจ้งเกิดและรับสูติบัตรที่สำนักงานเขต เทศบาลหรืออำเภอ ซึ่งจะได้รับเลข 13 หลัก ไม่ว่าบิดามารดาจะเป็นสัญชาติไทยหรือไม่ กรณีเด็กสัญชาติไทยและไม่ใช่บุตรของข้าราชการ จะได้รับลงทะเบียนสิทธิบัตรทองที่ รพ. และไม่ต้องย้อนเอาสูติบัตรกลับมาที่ รพ. อีก เนื่องจาก รพ. สามารถพิมพ์ใบแทนสูติบัตรได้ทันทีที่หน่วยรับลงทะเบียนของ รพ. หากผู้ปกครองไปแจ้งเกิดให้เด็กแล้ว” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า หากบิดามารดาไม่นำหนังสือรับรองการเกิดไปแจ้งเกิด มท. จะมีระบบตรวจสอบจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองเพื่อติดตามให้มาจดทะเบียนเกิดให้ถูกต้อง พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้ รพ.ที่ทำคลอดเด็กช่วยติดตามอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 3 ปี ในปี 2554 มี รพ. สังกัด สธ. เข้าร่วมโครงการ 44 แห่ง ปี 2555 เพิ่มเป็น 534 แห่ง และในปี 2556 ได้ขยายครอบคลุมหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดสะสมเกิน 15 วันลดลง โดยข้อมูล ส.ค. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.51 ของจำนวนเด็กเกิดใหม่ แต่ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าตัวชี้วัดของยูนิเซฟที่ต้องการให้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3 โดย สธ. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

“การพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิดนี้ จะทำให้เด็กแรกเกิดทุกคนในไทยมีสิทธิในระบบบัตรทองและเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อาทิ โรคที่มีความพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติทางสมอง ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การจดทะเบียนความพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจากข้อมูลปี 2554 มีเด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดเข้ารับการรักษาผู้ป่วยในในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 25,698 ราย มีการเบิกชดเชยค่ารักษากว่า 677 ล้านบาท ทั้งนี้ หากทำให้ระบบสามารถลงทะเบียนเกิดเด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทยจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กกลุ่มนี้มาก เนื่องจากความพิการในบางโรคสามารถรักษาให้หายจากความพิการได้ หากสามารถระบุความพิการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และจัดระบบการดูแลรักษาหรือการส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น