xs
xsm
sm
md
lg

“อย่าซน”...“อยู่เฉยๆ” คำต้องห้ามของลูกวัยซน /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ตอนเด็กๆ ลูกพี่ซนไหมคะ”

คำถามที่โดนถามบ่อยๆ ซ้ำๆ จากพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยซน และหลายครั้งที่ดิฉันก็เห็นกับตาว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นก็วิ่งเล่น แสบซ่า และซนเข้าขั้นจริงๆ จนอดไม่ได้ที่ต้องแซวติดตลกว่านี่ถึงขั้นซนติดทีมชาติได้เลยนะเนี่ย

ที่ว่าถึงขั้นซนติดทีมชาติก็ประมาณวิ่งเล่นตลอดเวลา แกล้งเด็กในวัยเดียวกัน รวมไปถึงผู้ใหญ่ก็ต้องโดนเข้าไปตีก้น ดึงผม หรือแกล้งสารพัด ฯลฯ

เสียงที่ดิฉันจะได้ยินตลอดเวลาตามมาก็คือเรียกชื่อลูก พร้อมกับบอกว่าอย่าดื้อได้ไหม อย่าซนได้ไหม แล้วก็วิ่งตาม จับให้อยู่กับที่

หรือแม้แต่กรณีที่เด็กเล็กไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับพ่อแม่ บ่อยครั้งที่จะเห็นภาพของผู้ใหญ่ที่ต้องคอยห้ามปรามเด็กที่คอยจับโน่นนี่นั่นอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็วิ่งไปวิ่งมาตามโต๊ะต่าง ๆ สื่งที่ตามมาคืออาการหัวเสียของผู้ใหญ่ที่พยายามบังคับให้เด็กอยู่เฉยๆ อยู่นิ่งๆ จนกว่าอาหารจะมา บางครอบครัวที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ก็ถึงกับต้องกลายเป็นฝันร้ายไป

จริงๆ ดิฉันเจอกรณีเหล่านี้ที่พ่อแม่มาปรึกษาบ่อยมาก แล้วก็เชื่อว่าคนเป็นพ่อแม่จำนวนไม่น้อยก็เผชิญปัญหาเหล่านี้ แล้วก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร บางคนก็ใช้วิธีเดิมๆ และก็บอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวโตขึ้นคงจะซนน้อยลงไปเอง แต่บางคนก็ใช้วิธีหาพี่เลี้ยงตามวิ่งประกบตัวเอาไว้ ในขณะที่บางคนก็ปล่อยให้ผู้อื่นดูแลไปเลย ประมาณว่าอยากทำอะไรก็ทำ

และเมื่อย้อนคิดถึงลูกของตัวเองในวัยเดียวกันก็เข้าใจดีเพราะเขาอยู่ในช่วงวัยซน แต่ถ้าพ่อแม่มีวิธีจัดการที่ดี ก็จะทำให้สามารถจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ โดยที่ไม่ต้องทำให้หัวเสีย

ดิฉันมีลูกชายสองคนในวัยไล่เลี่ยกัน เมื่อครั้งที่เขาทั้งสองคนยังเล็ก เวลาไปไหนดิฉันก็มักจะหอบหิ้วไปด้วย แน่นอนว่าก็ต้องมีเทคนิคในการจัดการเฉพาะตัวอยู่บ้าง
ภาพ www.thaihealth.or.th
ประการแรกเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้พร้อม

สิ่งที่ดิฉันไม่เคยขาดก็คือการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือที่นำติดตัวไปด้วยทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกบ้าน ซึ่งก็เป็นอุปกรณ์ที่หยิบยื่นให้เขาตั้งแต่เล็ก นั่นคือ หนังสือนิทาน อุปกรณ์วาดภาพระบายสี ดินสอ สมุดวาดภาพ หรือกระดาษเอ 4 ที่ใช้แล้วหนึ่งหน้า

และดิฉันก็มักแนะนำเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มีลูกอยู่ในวัยเด็กเล็กเสมอว่า เวลาจะเดินทางไปที่ไหนก็ตามให้พกอุปกรณ์เหล่านี้ หรือของเล่นชิ้นโปรดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระยะสั้น หรือระยะไกล หรือแม้แต่การไปร้านอาหารก็ตาม

ดิฉันใช้วิธีนี้มาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้พกพาเฉพาะเดินทางเท่านั้น แต่ฝึกให้เขาอยู่กับหนังสือนิทานและวาดรูปเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาออกนอกบ้าน แล้วต้องใช้ช่วงเวลาให้เขารอคอยเรา ก็จะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เสมอ และก็ได้ผล

ประการที่สองบอกให้ลูกรู้ทุกครั้งว่าจะทำอะไร

ประเด็นนี้สำคัญ แต่คนเป็นพ่อแม่มักจะมองข้าม เพราะคิดว่าลูกเล็กเกินไปไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ ลูกจะเข้าใจ เช่น เมื่อต้องพาลูกไปที่ทำงาน ก็บอกลูกว่าพรุ่งนี้แม่จะพาหนูไปที่ทำงานของแม่ บอกเขาว่าเขาจะเจออะไรบ้าง และเขาอยากจะทำอะไร หรือจะให้แม่เตรียมอะไรไปให้ เหมือนเป็นการบอกให้เขารู้ล่วงหน้า โดยที่ได้ตกลงกับแม่ไว้ก่อนว่าเมื่อไปแล้วจะต้องตัวอย่างไร หรือแม้แต่พาไปกินข้าวนอกบ้านก็บอกลูกก่อน ทำให้เขาเรียนรู้ว่าต้องเผชิญอะไรระหว่างรออาหาร เมื่อตกลงกันก่อน เวลาจริงเราก็สามารถพูดถึงข้อตกลงนั้น ๆ ก็จะทำให้เขาเรียนรู้ และทำในสิ่งที่เขาได้เลือกไว้ตั้งแต่แรก

ช่วงแรกๆ อาจได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ถ้าทำสม่ำเสมอ รับประกันว่าได้ผลค่ะ

ประการที่สามปลูกฝังทักษะการรอคอย

การปลูกฝังเรื่องนี้ นอกจากฝึกทักษะเรื่องการรอคอยแล้วยังเท่ากับเป็นการปลูกฝังเรื่องสมาธิได้ด้วย โดยการนำทั้งสองข้อมาเป็นส่วนหนึ่งของวิธีนี้ ยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของตัวเอง เมื่อครั้งที่ดิฉันต้องไปจัดรายการวิทยุ 2 ชั่วโมง และจำเป็นต้องพาลูกชายไปด้วยทั้งสองคน ดิฉันก็จะบอกทั้งคู่ว่าจะต้องไปกับแม่เพราะอะไร แล้วต้องไปเจออะไร และให้เขาเลือกว่าเขาจะทำอะไรในช่วงเวลานั้น จากนั้นดิฉันก็จะเตรียมในสิ่งที่เขาทั้งสองเลือก

ผลที่ได้ก็คือเขาก็เลือกนั่งวาดรูป พับกระดาษ และอ่านหนังสือ ซึ่งเวลา 2 ชั่วโมงสำหรับเด็กเล็กไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ก็อนุญาติให้เขาเข้าไปหาในห้องส่งเวลาจัดรายการบ้าง แต่ทำข้อตกลงกันก่อนว่าเมื่อเข้าไปแล้วต้องไม่ส่งเสียงเด็ดขาด สิ่งสำคัญคือต้องมีการพูดคุยและมีข้อตกลงร่วมกันไว้ก่อน จะทำให้การรอคอยไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ แล้วเขาก็เรียนรู้เรื่องการรอคอยด้วย

ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่มักเรียกร้องให้ลูกรอคอย ด้วยวิธีบอกให้ลูกอยู่เฉย ๆ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ มันผิดวิสัยของเด็ก เรามักคาดหวังให้ลูกของเราเชื่อฟังเรา โดยที่เราไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้มีทางเลือกหรือทางออก สุดท้ายพ่อแม่ก็มักสรุปด้วยสายตาของตัวเองว่า ลูกซน ลูกดื้อ

การจะสรุปว่าลูกของเราซนหรือดื้อ ต้องกลับมาดูวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ค่ะ
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น