สพฐ. เตรียมพร้อมรับมือสอบ PISA ปี 2558 สิงหาคมนี้ สั่งเขตพื้นที่ฯ ตั้งทีมเฉพาะกิจดูแลโดยเฉพาะ ตั้งเป้า ฝึกเด็กทำข้อสอบที่เน้นเชิงแก้ปัญหาและฝึกฝนการทำด้วยคอมพ์ ขณะที่ เลขา กพฐ. ห่วง คะแนนเด็กไทยอาจได้น้อยเพราะทำข้อสอบด้วยคอมฯไม่เป็น
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมพร้อมรับการประเมิน PISA (Programme for International Student Assessment) ปี 2015 ซึ่งจะมีการประเมินในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ โดยประเทศไทยจะมีการสุ่มเลือกนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี หรือนักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนจำนวน 275 โรง จากทุกทั้งสังกัด สพฐ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นต้น เข้าร่วมประเมินครั้งนี้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้คะแนน PISA ของประเทศไทยดีขึ้น ในส่วนของ สพฐ. จึงพยายามให้นักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศ ได้ฝึกหัดทำข้อสอบในลักษณะเดียวกับข้อสอบ PISA (PISA-Like ) ซึ่งเป็นข้อสอบแบบที่เน้นการแก้ปัญหา เน้นการคิดวิเคราะห์ และทำข้อสอบบนคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ ในช่วงปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา สพฐ.ได้นำตัวอย่างข้อสอบPISA ที่มีการเฉลยและได้รับอนุญาตให้เผยแพร่แล้ว มาใส่ไว้ในเวปไซต์ของ สพฐ. ประกอบด้วยข้อสอบคณิตศาสตร์ จำนวน 110 ข้อ วิทยาศาสตร์ 77 ข้อ และข้อสอบการอ่าน 99 ข้อ รวม 286 ข้อ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสทดลองทำข้อสอบ สำหรับในปีการศึกษา 2558 นี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง ตั้งผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องการสอบ PISA โดยเฉพาะเขตพื้นที่ฯ ละ 4 คน เลือกมาจากศึกษานิเทศก์ ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาข้อสอบแบบ CPS (Collaborating Problem Solving ) หรือข้อสอบแบบเน้นการแก้ปัญหาให้นักเรียนได้ทดลองทำ
“ในครั้งนี้จะเน้นให้นักเรียนได้ฝึกทำข้อสอบบนคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะการสอบ PISA คราวนี้จะให้ทำข้อสอบบนคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนของประเทศไทยน้อย เพราะยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น หากไม่ฝึกให้เด็กหัดทำขอสอบบนคอมฯแล้วคะแนนปีนี้ อาจออกมาต่ำ ซึ่งไม่ใช่ว่า เด็กไม่รู้เนื้อหา แต่เพราะใช้คอมฯไม่เป็น เพราะฉะนั้น หลังสงกรานต์นี้จะให้ศึกษานิเทศน์ ไปจัดอบรมครูทั่วประเทศ ให้สอนเด็กให้ใชคอมพิวเตอร์ทำข้อสอบให้เป็น ” นายกมล กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่