xs
xsm
sm
md
lg

กทม.แหล่งก่อเหตุคดีฆ่ามากสุด อึ้ง! กว่าครึ่งลูกทำ “ปิตุ-มาตุฆาต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดสถิติความรุนแรงต่อครอบครัวในรอบปี ชี้คดีฆ่ายังครองแชมป์ พบ กทม. พื้นที่ก่อเหตุมากสุด สลด! เกือบครึ่งลูกกระทำต่อพ่อแม่ เหล้าเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ ขณะที่ผู้ถูกกระทำขอรับบริการด้านกฎหมาย พบระบบบริการยังมีช่องโหว่ คดีล่าช้า

วันนี้ (7 เม.ย.) ในเวทีเสวนา “รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2557” เนื่องในโอกาส 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันครอบครัวแห่งชาติ จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)

น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2557 จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก และ มติชน พบว่า ข่าวการกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีทั้งหมด 368 ข่าว ประเภทข่าวที่พบมากที่สุด คือ ข่าวการฆ่ากัน 62.50% รองลงมา ข่าวฆ่าตัวตาย 20.38% ข่าวทำร้ายร่างกาย 12.23% ข่าวการละเมิดทางเพศบุคคลในครอบครัว 3.80% ในจำนวนนี้มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 106 ข่าว หรือ 28.8% นอกจากนี้ ยังพบความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำคือสามีกระทำต่อภรรยา 58.54% โดยมีสาเหตุจากความหึงหวงและโกรธแค้นที่ภรรยาไม่ยอมคืนดีด้วย 69.4% ภรรยากระทำต่อสามี 19.51% เพราะถูกสามีทำร้ายก่อน 54.17% ขณะที่คู่รักฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง 54.55% ฝ่ายหญิงกระทำกับฝ่ายชาย 11.36% ที่น่าห่วงคือกรณีที่ลูกกระทำต่อพ่อแม่ 48.38% รองลงมาพ่อกระทำต่อลูก 41.94%

เมื่อเปรียบเทียบสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 2555 กับ ปี 2557 พบว่า ปี 2557 มีข่าวการฆ่ากัน ทำร้ายกัน การละเมิดทางเพศเพิ่มสูงขึ้น โดยประเภทข่าวที่ครองแชมป์อันดับ 1 ยังคงเป็นข่าวการฆ่ากัน ส่วนประเภทข่าวการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่ชายจะฆ่าตัวตายมากกว่าหญิงคือ 65.33% และหญิงฆ่าตัวตาย 26.67% สาเหตุหลักน้อยใจ มีปากเสียงกัน ทั้งนี้ ประเภทข่าวการละเมิดทางเพศบุคคลในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกรณีพ่อละเมิดลูก 28.57% พี่ชายละเมิดน้องสาว 21.43%” นางสาวจรีย์ กล่าว

น.ส.จรีย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ข่าวที่พบการก่อเหตุฆ่ากันมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี นครศรีธรรมราช อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นที่เกิดเหตุฆ่าตัวตายมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี ทั้งนี้ อายุของผู้ฆ่าตัวตายน้อยสุด คือ 10 ปี กรณีเด็กชายน้อยใจถูกแม่บ่นเรื่องติดเกม และผู้ฆ่าตัวตายที่อายุมากสุด คือ 82 ปี กรณีชายชรายิงตัวตายน้อยใจครอบครัว ส่วนพื้นที่เกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศบุคคลในครอบครัวมากที่สุด คือ ชลบุรี อ่างทอง และ อุดรธานี อายุผู้กระทำน้อยสุดคือ 16 ปี กรณีพี่ชายข่มขืนน้องสาว และอายุมากสุด คือ 48 ปี กรณีพ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง ส่วนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อายุน้อยสุด คืออายุ 2 ขวบ กรณีพ่อข่มขืนลูก และอายุมากสุด คือ 71 ปี กรณีหลานชายข่มขืนยาย

น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศจากการให้บริการคำปรึกษาและช่วยเหลือของทางมูลนิธิฯ ปี 2557 มีกว่า 238 ราย ส่วนใหญ่ปรึกษาด้านกฎหมายมากที่สุด รองลงมาด้านสังคมสงเคราะห์ แบ่งเป็นแพ่ง 41.31% คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 29.58% และคดีอาญาคิดเป็น 29.11% ผู้ขอรับบริการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอายุ 31 - 40 ปี ความต้องการของผู้เสียหาย คือ ดำเนินคดี ขออย่า ขออำนาจปกครองบุตร แบ่งสมบัติ

น.ส.อังคณา กล่าวว่า ผู้เสียหายระบุว่าระบบบริการภาครัฐยังพบข้อบกพร่องหลายจุด ไม่ครอบคุลมอีกทั้งล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดกลไกเฝ้าระวังและป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ต้นทาง มูลนิธิฯมีข้อเสนอต่อทุกฝ่ายดังนี้1. ครอบครัวต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องอบรมเลี้ยงดูให้ได้รับความเสมอภาค ไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว รวมถึงแนะนำให้ผู้ประสบปัญหาดำเนินการคุ้มครองสิทธิ 2. เสริมพลังให้กับผู้ถูกกระทำเพราะส่วนใหญ่หวาดกลัว ระแวง หลายรายไม่กล้าร้องทุกข์ จึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายได้ 3. พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิ เช่น ดำเนินการทางคดี การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และรับแจ้งความลงบันทึกประจำวันทางคดีในกรณีที่ยืนยันดำเนินคดี 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการปรับเปลี่ยนแนวคิด การเคารพสิทธิ ส่วนผู้กระทำต้องยินดีเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและบำบัดฟื้นฟู และ 5. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีนโยบายคุ้มครองสิทธิผู้ที่ประสบปัญหาโดยมีนักสังคมสงเคราะห์ในสายงานเกี่ยวกับเด็ก และสตรี เพื่อให้คำปรึกษา หรือดำเนินคดีตามกฎหมาย

นางเอ (นามสมมติ) อายุ 45 ปี ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า เคยมีปัญหากับอดีตสามี เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายรุนแรง ใช้สายไฟมัดมือ ใช้โซ่ล่าม ใช้เข็มขัดฝาดตามตัว ตีด้วยไม้แขวนเสื้อ บางครั้งบังคับขืนใจให้มีเพศสัมพันธ์ ทนพฤติกรรมมากว่า 1 ปี เมื่อไม่ไหวจึงเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ทำแค่เพียงลงบันทึกประจำวัน ซึ่งกว่าจะรับแจ้งความทางคดีต้องมีบาดแผลตามร่างกายให้เห็น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่เคยให้ข้อมูลด้านสิทธิต่างๆ หรือข้อมูลด้านกฎหมายอะไรเลย ช่วงนั้นเครียด หวาดผวากลัวสามีจะมาทำร้าย ส่วนลูกทั้งสองคนก็เครียดไม่มีสมาธิในการเรียน เพราะลูกรับรู้เห็นพฤติกรรมที่รุนแรงตลอด อย่างไรก็ตาม ผ่านมากว่า 2 ปี ที่ศาลตัดสิน เราได้แยกทางกัน และทำเรื่องร้องขอค่าเลี้ยงดูลูกชาย ส่วนลูกสาวอดีตสามีขอรับไปเลี้ยง ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ที่ถูกกระทำลักษณะนี้ให้รีบออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง อย่าคิดเพียงแค่ว่าเป็นปัญหาครอบครัวที่สามารถแก้ไขได้ แล้วปล่อยให้มันผ่านไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น