xs
xsm
sm
md
lg

หน้าร้อนนี้ “คนอ้วน-คนแก่-เด็ก-หญิงท้อง” ระวังโรคฮีตสโตรก ถึงขั้นช็อกตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เตือนหน้าร้อนนี้ หญิงท้อง เด็ก คนแก่ คนอ้วน ทำงานกลางแดดระวัง “โรคฮีตสโตรก” รุนแรงถึงขั้นชัก เพ้อ ช็อก เสียชีวิต แนะอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเมษายนของทุกปี ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนจัดมากขึ้น อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก กลุ่มเสี่ยงคือ คนที่ออกกำลังกาย หรือทำงานในอากาศร้อนจัด ระบบระบายอากาศไม่ดี ใส่เสื้อผ้าหนาหรือกันระเหยของเหงื่อ ดื่มน้ำน้อย หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคฮีตสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ทัน ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงการขาดน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วยเป็นเวลานาน สัญญาณสำคัญคือไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย ผู้ที่เป็นฮีทสโตรกจะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว และอาจรุนแรงถึงขั้น เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับและไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้

นพ.พรเทพกล่าวว่า ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกายกลางแดดเป็นเวลานาน หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ หรือแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ ควรออกกำลังกายในที่ร่ม เช่น โรงยิมหรือเลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าและช่วงเย็น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด นอกจากนี้ ควรสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี รวมถึงการใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน และควรทาซ้ำบ่อยๆ ถ้าต้องถูกแดดนานๆ สำหรับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคอ้วนต้องให้การดูแลเป็นพิเศษโดยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคอ้วนออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป จนถึงขั้นหอบ หญิงมีครรภ์หากต้องเดินทางไกล ควรมีผู้ดูแลร่วมเดินทางด้วยเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนหรือเป็นลมเมื่อเจออากาศที่ร้อนจัดภายนอก และไม่ควรทิ้งเด็กหรือผู้สูงอายุ ให้อยู่ในรถที่ปิดสนิท และจอดกลางแจ้งตามลำพังเป็นเวลานาน

สำหรับประชาชนทั่วไปหากพบผู้ที่มีอาการตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออกมาก หน้าซีด ตะคริว อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นลม อาจเป็นโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก สามารถดูแลเบื้องต้นด้วยการนำเข้า ที่ร่ม ให้นอนราบและยกเท้าสูงทั้ง 2 ข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน และจากนั้นรีบนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น