สพฐ. เตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ ไม่ฟิกเวลาตายตัว เน้นวิชาหลักและกำหนดเวลาเฉลี่ยเรียนครบภายใน 3 ปี “กมล” ระบุเห็นด้วยแนวทาง รมว.ศึกษาฯ ให้โละสอบ LAS เผยเตรียมนัดถกหน่วยงานจัดกิจกรรมในวันที่ 9 เม.ย. นี้
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ สพฐ. เตรียมจะประกาศผลสอบคะแนนการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ (National Test : NT) ในระดับประถมศึกษา 3 และจะเร่งส่งไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้โรงเรียนนำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลไปใช้ในการพัฒนานักเรียน ส่วนที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือ LAS (Local Assessment System : LAS) ซึ่งเป็นการทดสอบในระดับ ป.2 ป.3 มัธยมศึกษาปีที่ 4 และ ม.5 นั้น สพฐ. เห็นด้วยและมีแนวคิดจะยกเลิกอยู่แล้ว โดยวัตถุประสงค์ของการจัดสอบ LAS เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในเขตพื้นที่ฯ แต่กลับทำให้โรงเรียนไปจริงจังกับการสอบ LAS มากเกินไป จนกลายภาระของเด็กต้องสอบมากขึ้นทั้งสอบปลายภาคและสอบ LAS ขณะเดียวกัน การสอบ LAS ก็ไปซ้ำซ้อนกับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ด้วยจงเห็นด้วยว่าควรยกเลิกไป
“ในอนาคตจะมีการปรับโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่โครงสร้างหลักสูตรจะกำหนดชัดเจนว่าต้องเรียนเฉลี่ยวิชาละกี่ชั่วโมงต่อปี ก็จะไม่กำหนดเวลาเรียนในแต่ละวิชา แต่ต้องเรียนจนครบหลักสูตรที่กำหนดให้ได้ภายใน 3 ปี โดยเน้น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา เป็นหลัก เพราะฉะนั้น บางปีเด็กอาจจะเรียนในบางวิชาน้อย เพราะไปเน้นวิชาอื่น ถ้าเอาLASเข้าไปวัดผลนั้น ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจะกลายเป็นว่าเด็กได้คะแนนน้อยสู้ปล่อยให้วัดโอเน็ตตามช่วงชั้นทีเดียวน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า” นายกมล กล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ สพฐ. ไปหาแนวทางลดกิจกรรมนักเรียน ให้เหลือแค่ปีละ 10% ของเวลาเรียนทั้งหมดที่มีปีละ 200 วัน หรือเท่ากับ 20 วัน เพราะปัจจุบันพบว่านักเรียนต้องทำกิจกรรมนักเรียนถึง 84 วันนั้น ในวันที่ 9 เมษายนนี้ จะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียน มาประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางลดกิจกรรมนักเรียนลง โดยจะใช้วีธีบูรณาการกิจกรรมที่ลักษณะคล้ายกัน เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมลดโลกร้อน ให้จัดใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ในช่วงเดือนที่นักเรียนสอบนั้น จะไม่ให้มีการทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า สพฐ. จะไม่ไปปรับลกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ของนักเรียนลง ทั้งนี้ เมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว สพฐ. จะนำเรื่องนี้เสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบด้วย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่