xs
xsm
sm
md
lg

แนะหญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปตรวจมะเร็งเต้านมทุกเดือน หลังพบป่วยตายพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยหญิงไทยเสี่ยงมะเร็งเต้านม แนะหญิง อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน พร้อมจดใส่สมุดบันทึก เพื่อป้องกันความเสี่ยงและหากตรวจพบก่อนโอกาสที่รักษาให้หายและรอดชีวิตมีสูง

วันนี้ (30 มี.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาบุคลากรและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการประเมินประสิทธิผลการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีไทย ภายใต้โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม ว่า มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 สถิติสาธารณสุขล่าสุดของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ปี 2554 พบสตรีไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 34,539 คน เสียชีวิต 2,724 คน เฉลี่ยวันละ 7 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 711 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งมีประมาณ 19 ล้านคน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวเนื่องจากในระยะแรกมะเร็งเต้านมจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด จะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็นเมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบและลุกลามไปทั่วแล้วการรักษามักไม่ได้ผล ส่วนใหญ่จะเสียชีวิต

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการค้นหาก้อนมะเร็งให้เร็วที่สุด หากพบเร็วจะมีโอกาสที่รักษาหายและรอดชีวิตสูง โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด ทุกชุมชน และทุกหมู่บ้าน รณรงค์เริ่มปลูกฝังให้ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน อัตราครอบคลุมให้ได้ร้อยละ 80 เพื่อลดการสูญเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และจังหวัดพื้นที่ดำเนินการทั่วประเทศ 21 จังหวัด อาทิ เชียงราย สุราษฎร์ธานี จันทบุรี และ นครราชสีมา เป็นต้น ดำเนินงานโครงการประเมินประสิทธิผลการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีไทย ภายใต้โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม เพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิภาพของการคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การยืนยันโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) การรับรองโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการส่งต่อตามระบบบริการสุขภาพ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 - 10 ปี เพื่อให้ได้ผลที่เป็นรูปธรรมของรูปแบบการดำเนินงานสาธารณสุขที่ครอบคลุมในบริบทของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันการรักษาพยาบาล เริ่มต้นจากการสร้างศักยภาพของสตรีไทยในการดูแลตนเองด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้องประจำทุกเดือน โดยบันทึกในสมุดบันทึกการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ภายใต้ระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นกลไกสำคัญของงานสาธารณสุข ต้องมีความเชื่อมโยงกันทั้งเชิงรับคือการจัดบริการการรักษาพยาบาล และเชิงรุกคือการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในระดับชุมชน การดูแลและการคัดกรองในระดับสถานบริการ ซึ่งโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีเครื่องมือ และอุปกรณ์ของการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะ Ultrasound และ Mammogram เพื่อรองรับการจัดบริการ แต่ในสภาวการณ์ของข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน การดำเนินงานเชิงรุกด้วยการส่งเสริมในสตรีให้มีการดูแลรับผิดชอบในการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพตนเอง ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานเพื่อลดปัญหาการเป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะรุนแรงที่ยากแก่การรักษา

ทั้งนี้ การตรวจเต้านมด้วยตนเองสามารถทำได้ 3 ท่า ดังนี้ ท่าที่ 1 ตรวจหน้ากระจก เป็นการใช้สายตาสังเกตความผิดปกติ โดยให้ยืนตรง มือแนบลำตัว แล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตว่าเต้านมมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ จากนั้นยกไว้บนสะโพกและเกร็งหน้าอก สังเกตอีกครั้งหนึ่ง ท่าที่ 2 นอนหงาย ยกมือข้างที่จะตรวจหนุนไว้ใต้ศีรษะ ใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำแบบวนให้ทั่วทั้งเต้านมไปจนถึงรักแร้ และไหปลาร้า คลำอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน ท่าที่ 3 ตรวจตรวจขณะอาบน้ำ ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ และใช้การคลำเหมือนกับท่านอนหงาย หากพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม อาทิ พบก้อนที่เต้านม ผิวหนังเต้านมเป็นรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ มีสะเก็ด หัวนมหดตัว คัน แดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม โดยเฉพาะสีคล้ายเลือด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น