xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ รบ.ตั้ง 112 เลขฉุกเฉินเดียวทั่วไทย “รู้พิกัด-ข้อมูลส่วนตัว” ยันไม่ยุบ 191-1669

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายพลเมืองฯ จี้รัฐบาลตั้งหมายเลขฉุกเฉิน 112 หมายเลขเดียว เสนอตั้ง สพฉ. ดูแลระบบ ประสานร่วม 1669 ด้านการแพทย์ 191 ของตำรวจ และ 199 ช่วยดับเพลิง ยันไม่มีการยุบหรือยกเลิกหมายเลขเดิม จ่อพบนายกฯ สัปดาห์นี้ ด้าน สพฉ. เผยใช้งบ 200 ล้าน จัดตั้งศูนย์ชั่วคราว จ้างคนนอกรับโทรศัพท์ 140 คู่สาย คาดเสร็จสิ้นใน 8 เดือน แก้ปัญหาโทรป่วน ช่วยบอกพิกัดจุดเหตุ

วันนี้ (30 มี.ค.) เครือข่ายพลเมืองปฏิรูปสายด่วนฉุกเฉิน 112 ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสายด่วนฉุกเฉิน โดยขอให้ผลักดันให้มีการใช้เพียงหมายเลข 112 เพียงหมายเลขเดียว โดยแถลงการณ์ระบุว่า การช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ มาจากการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินที่ดี แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายหมายเลขและหลายหน่วยงานในการรับแจ้งเหตุ เช่น ด้านความปลอดภัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 191 ด้านการแพทย์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 1669 ด้านดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 199 ทำให้จดจำยากและสับสน ซึ่งประเทศไทยแม้สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดให้หมายเลข 112 เป็นหมายเลขเดียวในการแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 แต่ยังไม่ได้มอบให้หน่วยงานใดไปดำเนินการ

เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้ 1. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและพัฒนาระบบรับแจ้งเหตุฯหมายเลขเดียว 112 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยขอเสนอให้ สพฉ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเริ่มแรก เนื่องจากเป็นหนึ่งในสามหน่วยงานของภารกิจปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งมีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานส่วนใหญ่ไว้แล้ว 2. ขอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สนับสนุนอย่างจริงจัง พิจารณาและอนุมัติงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กสทช. กรมป้องกันและบรรเทสาธารณภัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สตช. กทม. และ สพฉ. ให้ความร่วมมือสนับสนุน

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ในฐานะผู้แทนเครือข่ายพลเมืองปฏิรูปสายด่วนฉุกเฉิน กล่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ทางเครือข่ายเตรียมที่จะไปยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กสทช. เพื่อให้เร่งผลักดันในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ก่อนแถลงการณ์ได้มีการจัดเวทีสัมมนา "ปฏิรูปสายด่วนฉุกเฉิน 112" จัดโดยเครือข่ายพลเมืองปฏิรูปสายด่วนฉุกเฉิน 112 โดย นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวในเวทีดังกล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกใช้หมายเลขฉุกเฉิน 112 แล้วกว่า 67% ส่วนประเทศไทยยังไม่มีเจ้าภาพหลัก แต่คณะทำงานร่วมของ 3 หน่วยงานหลักทั้ง สตช. สพฉ. และด้านดับเพลิง มีความเห็นร่วมกันว่าจะให้ สพฉ. เป็นเจ้าภาพดำเนินงาน แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ระบุให้ชัดว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแล และตั้งงบประมาณสนับสนุน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 112 ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารใหม่ อาจอาศัยการเช่าสถานที่ โดยทำเป็นศูนย์ฯชั่วคราว และเซตระบบเชื่อมโยงหน่วยปฏิบัติงานทั้งหมด และจ้างบุคลากรภายนอกมาเป็นผู้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ ซึ่งจากการพิจารณาร่วมกันเห้นว่า ประมาณ 140 คู่สาย สามารถรองรับการรับแจ้งเหตุต่อวันได้เพียงพอ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 150 - 200 ล้านบาท ในการจัดตั้งตรงนี้ โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน นับจากจัดตั้งหน่วยงานหลักในการดำเนินการจึงเสร็จสิ้น

การรับสายแจ้งเหตุฉุกเฉินแต่ละสายจะต้องใช้เวลาพูดคุยไม่เกิน 3 นาที โดยตั้งคำถามไม่เกิน 3 คำถาม เพื่อให้ได้ข้อมูล ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าหมายเลข 112 จะทำให้เสียเวลาในการประสานไปยังหน่วยปฏิบัติงานแล้วต้องรายงานข้อมูลซ้ำซ้อน เพราะผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินเข้ามาที่ 112 ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ข้อมูลที่ 112 ได้รับจากผู้แจ้งเหตุจะถูกส่งไปยังสายด่วนฉุกเฉินของทั้ง 3 หน่วยปฏิบัติการในทันที ทำให้ไม่เสียเวลาสอบถามข้อมูลใหม่ และพร้อมจ่ายงานไปยังพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดของผู้รับแจ้งให้ออกปฏิบัติการได้ทันที หากเหตุฉุกเฉินนั้นเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตัวเอง แต่หากผู้แจ้งเหตุไม่สามารถพูดหรือให้รายละเอียดได้ก็จะส่งทั้ง 3 ทีมไปยังที่เกิดเหตุ ส่วนเคสไม่ฉุกเฉินจะไม่มีการตัดสายทิ้ง แต่จะมีการจ่ายงานโอนสายไปยังหน่วยงานอื่นเพื่อดูแลต่อไปแทน ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการยุบหรือยกเลิกหมายเลขฉุกเฉินเดิมที่มีอยู่ แต่เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุและประสานแทนหมายเลขเดิมที่มีอยู่” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว

ด้าน ร.ต.อ.ดร.สามารถ กาษร รอง สว. ชุดปฏิบัติ กก.ศร.บก.สปพ. (191) กล่าวว่า ปัญหาในการออกไปช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินของตำรวจผ่านหมายเลข 191 คือ ไม่สามารถรับรู้สถานที่เกิดเหตุได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีการโทรศัพท์ป่วนเข้ามายังหมายเลข 191 ด้วย โดยแต่ละวันมีผู้ โทร.เข้ามาประมาณ 10,000 สาย เป็นสาย โทร.ป่วนประมาณ 8,000 สาย ส่วนใหญ่เป็นเด้กหญิงอายุ 10 - 12 ขวบ เป็นเหตุฉุกเฉินจริงไม่ถึง 1,000 สาย แต่หากมีหมายเลขฉุกเฉิน 112 จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว เพราะสามารถบอกพิกัดของผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินได้ และจะมีการแสดงข้อมูลส่วนตัวตามทะเบียนราษฎร รูปภาพผู้โทรศัพท์ และข้อมูลสุขภาพให้เห็นอย่างชัดเจน จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยได้รวดเร็วตรงจุด ภายใน 10 นาที ตามมาตรฐานของ สพฉ. และสามารถช่วยพิจารณาได้ว่าจะต้องส่งหน่วยงานใดออกไปช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการตั้งองค์กรใหม่เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะหรือไม่ นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการพิจารณา โดยจะต้องทำงานไปสักระยะเวลาหนึ่งก่อนสักประมาณ 3 ปี ว่า สมควรจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ที่เหมาะสมขึ้นมารับช่วงต่อในการดูแลหรือไม่ หรือจะพัฒนาศูนย์ชั่วคราวให้เป็นศูนย์ถาวร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการออกกฎหมายมารองรับการเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหรือไม่ นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 สามารถทำได้อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ สพฉ. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการขอข้อมูลทะเบียนราษฎรมาแล้ว ส่วนที่จะระบุตัวตนโดยแสดงรูปภาพประกอบด้วยนั้น จะต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ ส่วนข้อมูลด้านสุขภาพกำลังอยู่ระหว่างร่างบันทึกข้อตกลงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนผู้ป่วยสิทธิข้าราชการและประกันสังคมนั้นกำลังหารือ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น