xs
xsm
sm
md
lg

ดันร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ โทษรุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ทำร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับใหม่ หวังทันต่อสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ - อุบัติซ้ำ เพิ่มอัตราโทษผู้ฝ่าฝืนเพิ่มขึ้น จำคุกไม่เกิน 1 เดือน - 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 - 500,000 บาท

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ถือว่ามีความล้าหลัง เพราะใช้มานานกว่า 34 ปีแล้ว สธ. จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. ... ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา ทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคที่กลับมาระบาดซ้ำ เช่น อีโบลา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ซึ่งไทยเป็นประเทศสมาชิก ระบบการป้องกันควบคุมโรคติดต่อของประเทศจะได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ คือ ปรับปรุงคำนิยามของโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคระบาดกลุ่มโรคติดต่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพิ่มคำนิยามการสอบสวนโรค การเฝ้าระวัง สุขาภิบาล และช่องทางเข้าออก เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 9 หมวด 60 มาตรา กำหนดให้มีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับชาติและระดับจังหวัด เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติ ที่เชื่อมโยงการดำเนินงานระดับประเทศกับระดับพื้นที่ มีคณะกรรมการด้านวิชาการ ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการประกาศเขตติดโรค และอธิบดีในการประกาศโรคระบาดในประเทศ ให้ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ประกาศให้ช่องทางเข้าออกเป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีการจัดทำระบบเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด และโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อทุกอำเภอ มีคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนความเสียหายจากการเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุม รวมทั้งการเพิ่มอัตราโทษผู้ฝ่าฝืนสูงขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ร่างดังกล่าว กรมฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 มาตั้งแต่ พ.ค. 2553 โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2555 และมีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว.ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 รวมทั้งมีการชี้แจงต่อคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเสนอที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 26 มี.ค. 2558 นี้ เพื่อผลักดันให้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ต่อไป ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต้องระวางโทษ ตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 1 เดือน - 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 10,000 - 500,000 บาท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น