xs
xsm
sm
md
lg

แฉผงสมุนไพรคล้ายขมิ้นแห่ขายภาคเหนือ ทำคนกินเกือบถูกตัดขา พบสเตียรอยด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อย. แฉภาคเหนือแห่ขาย ยาสมุนไพรผงสีเหลืองคล้ายขมิ้น อ้างรักษาเลือดลม ปวดเมื่อย บรรเทาอัมพฤกษ์อัมพาต กินแล้วมีราศี พบคนร้องเรียนกินแล้วแผลที่เท้าบวมขึ้นเกือบถูกตัดขา พบลอบใส่สารสเตียรอยด์ เตือนอย่าซื้อ
แฟ้มภาพ
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับยาสมุนไพรที่มีลักษณะเป็นผงสีเหลืองคล้ายขมิ้น บรรจุซองพลาสติกใส มีฉลากระบุว่า “สมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพ แก้เลือดลม 12 จำพวก ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือเหน็บชา กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ บรรเทาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หญิงชายผอมแห้ง กินแล้วราศีดีขึ้น” ลงวันที่ผลิต 9 ธ.ค. 2557 วันหมดอายุ 9 ธ.ค. 2560 ทะเบียน G/ วางจำหน่ายจำนวนมากทางภาคเหนือ โดยยาสมุนไพรดังกล่าวมีชาวบ้านที่มีอาการเป็นแผลที่เท้า ซื้อไปกินเพื่อรักษาอาการปวดที่แผล เมื่อกินแล้วหายปวดทันที แต่แผลที่เท้าบวมขึ้น จึงไปหาหมอเพื่อเจาะเอาหนองออก จนเกือบต้องตัดขาทิ้ง

นพ.ปฐม กล่าวว่า จากการตรวจสอบซึ่งยาดังกล่าวไม่มีทะเบียนยา และมีการอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นสมุนไพรแก้ปวดที่สามารถรักษาโรคครอบจักรวาล ทั้งเมื่อนำยาไปตรวจสอบ พบมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาและซื้อยาดังกล่าวมารับประทาน หากผู้ประกอบการซื้อยาชนิดนี้มาจำหน่าย ถือว่ามีความผิดข้อหาขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ยาสมุนไพรที่ตรวจพบส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ถือว่ามีความผิด เนื่องจากสเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และเป็นยาที่มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย มีผลข้างเคียงสูง เช่น บวมน้ำ กระดูกผุ เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลง อาจถึงขั้นทะลุ กล้ามเนื้อลีบ ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทําให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย บางรายถึงขั้นไตวาย อันตรายถึงชีวิต หากผู้บริโภคจะเลือกซื้อยาสมุนไพร ขอให้ซื้อยาจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยา อย่าซื้อยาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดนัด แผงลอย หรือ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก เพราะอาจได้รับยาที่มีการลักลอบใส่สเตียรอยด์ และขอให้ซื้อยาที่มีเลขทะเบียนตำรับยาระบุบนฉลาก โดยทะเบียนยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ ฉลากต้องระบุตัวอักษร G ตามด้วยลำดับที่/ปี พ.ศ.... สองหลักสุดท้าย และมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ฉลาก เช่น ชื่อผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต เลขที่หรือครั้งที่ผลิต ปริมาณยาที่บรรจุ รวมทั้งควรสังเกตว่าหีบห่อต้องอยู่ในสภาพดี ไม่เปียกชื้น” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น