xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้ทบทวน พ.ร.บ.สลาก ฉบับใหม่ จุดอ่อนเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ รุมชำแหละ พ.ร.บ.สลากฉบับใหม่ ระบุมีข้อบกพร่องต้องทบทวน เผยให้อำนาจบอร์ด และ ครม. ใช้ดุลพินิจมากเกินไป แนะตั้งกองทุนเพื่อสังคม ชี้ปัญหาสลากแพงไม่เกี่ยวกับกฎหมาย เป็นความล้มเหลวของฝ่ายบริหาร

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่โรงแรมแมนดาริน ในเวทีเสวนา “ชำแหละ พ.ร.บ.สลากฯฉบับใหม่…แก้หรือเพิ่มปัญหา?” จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เห็นแล้วตกใจ” มีประเด็นที่ขอแก้ไข 14 ข้อ อยากพูดประเด็นด้านกฎหมาย 5 ประเด็น ได้แก่ 1. คำนิยาม “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ได้เพิ่ม “สลากกินแบ่งเพื่อสาธารณะประโยชน์ เป็นการขยายความ ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีอนุญาต ตรงนี้ต้องระวัง ครม. อาจจัดทำโครงการพิเศษ นำเงินรายได้ 20% ไปใช้ ตรงนี้ทำให้รายได้รัฐหายไป 20% 2. วัตถุประสงค์ของสำนักงานสลาก มีการเพิ่มเติมเรื่องการออกสลากใหม่และช่องทางการจำหน่าย ตามปกติเรื่องนี้ควรถูกตราไว้ในกฎหมาย การไม่ตราไว้อาจทำให้เกิดปัญหา 3. อำนาจหน้าที่ของบอร์ด เดิมดูเรื่องราคาและวีธีการจำหน่าย แต่กฎหมายใหม่ให้อำนาจบอร์ด กำหนดจำนวนและกำหนดรูปแบบสลาก ต่อไปจะมีสลากใหม่ๆ ออกได้โดยบอร์ด 4. การจัดสรรเงิน โดยตัด 8% ที่เคยส่งให้รัฐไปอยู่ในส่วนการบริหารสำนักงานสลาก 3% และกองทุนบริหารจัดการสลาก 5% เป็นปัญหาใหญ่พอสมควร แล้วก็ให้บอร์ดกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ และการบริหารกองทุน โดยในร่างกฎหมายขาดความชัดเจน ตามปกติการจะตั้งกองทุนต้องบอกโครงสร้างและมีกฎระเบียบชัดเจน โดยเฉพาะวิธีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ชัดเจนมากกว่านี่ 5. มีข้อดีคือ การคุ้มครองเด็ก

ขอสรุปว่า กฎหมายควรมีความชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากมีข้อบกพร่องที่ต้องทบทวน นักกฎหมายบางคนชอบเขียนกฎหมายละเอียด บางคนชอบเขียนสั้นแล้วไปออกกฎระเบียบประกอบ ผมเป็นประเภทหลัง แต่กฎหมายนี่มีข้อถกเถียงทางสังคม หารายได้เข้ารัฐเป็นอันดับแรกๆ การดูแลของรัฐต้องละเอียดและมีระบบรอบคอบกว่านี้” ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าว

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ให้ระวังการแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาสลากแพงอาจจะกลายเป็น “รักษาหวัดหายแต่ได้มะเร็งตามมา” ที่ผ่านมา บอร์ดกองสลากมีอำนาจในการบริหาร แต่ไม่มีความเข้าใจปัญหาต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แนวทางแก้ปัญหาคือพิมพ์สลากเพิ่ม แต่ราคาสลากก็ไม่เคยลดลง คิดว่าแก้ไขกฎหมายแล้วสลากจะ 80 บาท เป็นการเข้าใจผิด ปัญหาสลากแพงต้องแก้ไขที่กลไก นโยบาย เช่นเดียวกับปัญหาที่คนเชื่อว่า “หวยล็อกได้” การแก้ไขต้องแก้ครบวงจร ต้องปฏิรูปโดยแยกการกำกับดูแลออกจากการบริหาร พร้อมกับตั้งขอสังเกตว่า “ปกติหน่วยงานที่เสนอกฎหมายต้องออกมาพูด สร้างความเข้าใจให้สังคม แต่กฎหมายนี้ สำนักงานสลากกลับไม่ออกมาพูด”

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวถึงผลกระทบของร่างกฎหมายสลากฉบับใหม่ว่า “ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่มันคือการขยายตัวพนันใช่หรือไม่” ในมุมหนึ่งสลากคือการสร้างปัญหาให้กับสังคม พอๆ กับประโยชน์ การหารายได้เข้ารัฐ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ต้องสร้างพื้นที่หรือกลไกในการป้องกันให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน

สลากคือการพนันชนิดหนึ่ง ทุกประเทศพยายามทำให้ถูกกฎหมาย และมีระบบกลไก มีองค์กรกลางหรือองค์กรอิสระเข้ามาดูแลอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม แต่ไม่ใช่องค์กรที่ขายหรือเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อความชอบธรรม ป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเยาวชน ประชาชน และที่สำคัญคือ การบังคับใช้ ผู้ฝ่าฝืนมีบทลงโทษ ยกตวอย่างในต่างประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ เขาให้ผู้ประกอบการเขียนโดยสมัครใจ ถ้าคุณอยากได้ใบอนุญาตคุณก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบปัญหาด้วย มีกรรมการกลางกำกับดูแล มีการจัดสรรทุนรายได้ให้ตั้งเป็นกองทุน เหมือนกับภาษีเหล้าบุหรี่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตอบแทนสังคมกลับมา” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น