สพฐ. กำชับเขตพื้นที่ - ร.ร. ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ที่ประสบปัญหาหมอกควัน ดูแลความปลอดภัยของสถานที่ และสุขภาพอนามัยของ นร. ครู และประชาชน พร้อมกำชับเกาะติดกรมอุตุฯ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์พายุฤดูร้อน โดยเฉพาะช่วง 21 - 25 มี.ค. นี้
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ. ) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่ทวีความรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกโดยเฉพาะจังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา และ ตาก ส่งผลต่อคุณภาพอากาศทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซอันตรายต่างๆ ในบรรยากาศ และแพร่กระจายไปยังบริเวณชุมชนมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว สำนักงานคณะกรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้สั่งการไปยังเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกแห่งที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ ให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังและป้องกัน ไฟป่าอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้สถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานสาธารณสุข ทหาร และตำรวจ รณรงค์ให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และดูแลความปลอดภัย ของอาคาร สถานที่ที่อยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าไม่ให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งดูแลให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ด้านสุขภาพอนามัยของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชน ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าในช่วงวันที่ 21 - 25 มีนาคมนี้ จะเกิดพายุฤดูร้อน ลงกระโชกแรงและลูกเห็บตกบริเวณประเทศไทยตอนบนขอให้ จึงขอให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากภัยธรรมชาติ และติดตามข่าวสารข้อมูลจากทางการ และการเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมเน้นย้ำให้คำนึงถึง ความปลอดภัยของนักเรียน และครู หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือรุนแรงขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน และรายงานให้ สพฐ. ทราบเพื่อจะได้ระดมการช่วยเหลือ ได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานจากสถานศึกษาและเขตพื้นที่ว่า ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่างใด
“ในส่วนของสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค นั้น สพฐ. ได้ดำเนินการให้ความรู้ และสอนให้นักเรียนรู้จักการสังเกตสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาโดยได้จัดโครงการให้การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีแนวปฏิบัติในการจัดการด้านภัยพิบัติ และแนวทางในการจัดการศึกษา สามารถจัดกิจกรรมด้าน การจัดการภัยพิบัติในสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในภูมิภาคต่างๆ จะรู้ว่าก่อนเกิด ต้อง เตรียมตัวอย่างไร ขณะเกิดต้องทำตัวอย่างไร และหลังเกิดแล้วต้องทำอย่างไร ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่