xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้าปี 58 เพิ่มยอดทีมหมอครอบครัวให้ได้ 3 หมื่นทีม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ตั้งเป้าสร้างทีมหมอครอบครัวเป็น 30,000 ทีม ในปี 2558 เผยผลออกเยี่ยมบ้านดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะท้าย กว่า 55,000 คน ได้ผลดี ลดการเข้าโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อน

วันนี้ (19 มี.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานทีมหมอครอบครัวตั้งแต่เริ่มโครงการ ธ.ค. 2557 ทั่วประเทศมีทีมหมอครอบครัวแล้ว 14,957 ทีม และดูแลเยี่ยมบ้านกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษรวม 54,959 คน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้พิการที่ต้องมีคนช่วยดูแล และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในหลายจังหวัด พบว่า ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย ทั้งยังเกิดนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับบริบทมากมาย อาทิ ลพบุรี มีนาฬิกาชีวิตย้ำเตือนการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยผู้พิการ ป้องกันแผลกดทับ จัดยาเป็นชุดให้ผู้ดูแลเข้าใจง่าย ผู้ป่วยจึงได้รับยาถูกต้องตรงตามเวลา ลดการเข้าโรงพยาบาลจากโรคแทรกซ้อนกว่าร้อยละ 50 เป็นต้น ตั้งเป้าหมายสร้างทีมหมอครอบครัวไม่ต่ำกว่า 30,000 ทีมภายในสิ้นปี 2558

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ทีมหมอครอบครัวถือเป็นยุทธศาสตร์การทำงานสมัยใหม่ ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุข ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครอื่นๆ และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ช่วยเหลือกันในการดูแลประชาชน มั่นใจว่าจะทำให้งานสาธารณสุขในชุมชนและอำเภอเข้มแข็ง เป็นด่านหน้าของการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่ควรเน้นไปที่การดูแลในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผลวิจัยเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวภายใต้วัฒนธรรมไทย ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2556 พบว่า การพึ่งพิงระยะยาวของผู้สูงอายุไทยมาจาก 4 สาเหตุใหญ่ คือ อัมพฤกษ์อัมพาต สมองเสื่อม โรคเรื้อรัง และชราภาพ การดูแลส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผู้ดูแลเป็นเพศหญิง ราว 3 ใน 4 ต้อง ทำงานด้วย ราว 1 ใน 9 ต้องดูแลมากกว่า 1 คน ผู้ดูแลบางคนจำต้องลาออกจากงาน รายได้จึงลด ขณะที่รายจ่ายเพิ่ม เกิดความเครียดและปัญหาขัดแย้งภายในครอบครัวตามมา การดูแลส่วนใหญ่ทำได้เพียงการช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ป้อนข้าว การฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเกิดขึ้นน้อย จึงมั่นใจว่าการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทีมหมอครอบครัวจะสร้างหลักประกันคุณภาพของการดูแลที่บ้าน เติมเต็มช่องว่างของระบบบริการในชุมชน และเพิ่มความอุ่นใจแก่ผู้ดูแลเพราะมีที่ปรึกษาทุกเวลา
 
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น