xs
xsm
sm
md
lg

ขยาย ม.41 ชดเชยผู้ป่วยไม่ลดฟ้องร้อง ชี้ตั้งกองทุนใหม่ไม่ต้องตั้งออฟฟิศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองเลขาธิการ สพฉ. หนุน กม.กองทุนชดเชยผู้ป่วย ย้ำเป็นผลดีต่อ หมอ - คนไข้ เหตุรับเงินชดเชยแล้วต้องยุติฟ้องร้องทางแพ่ง ยันไม่พิสูจน์ถูกผิดระบุชัดเว้นการจ่ายเหตุสุดวิสัย ชี้ขยายมาตรา 41 มีการตั้งเพดาน ไม่ช่วยลดการฟ้องร้อง ยันตั้งกองทุนใหม่ไม่ต้องตั้งสำนักงานใหม่ เหตุโอนคนทำงานมาตรา 41 มาทำ

วันนี้ (10 มี.ค.) นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ว่า ตนเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะมีประโยชน์ทั้งต่อแพทย์และคนไข้ เนื่องจากเมื่อเกิดความเสียหายจะมีการจ่ายเงินชดเชยโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดภายใน 30 วันตามเกณฑ์ หากผู้ป่วยไม่พอใจในอัตราดังกล่าวก็สามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาตามเกณฑ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอีกครั้ง โดยใช้เวลา 30 วัน หากผู้ป่วยรับการชดเชยไปแล้วจะต้องยุติการฟ้องร้องทางแพ่ง แต่ทางอาญายังมีอยู่ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.บัญญัติเพิ่มว่า เมื่อพิจารณาตามความดีความชอบแล้วศาลจะพิจารณาลงโทษน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือเป็นประโยชน์ต่อแพทย์และคนไข้ และทำการฟ้องร้องกันน้อยลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้น

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่แพทยสภาเสนอให้ขยายมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้วงเงินเพิ่มขึ้นและครอบคลุมทุกสิทธิเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีการตั้งเพดาน ซึ่งแม้จะสูงถึง 2 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังไม่ได้หลุดพ้นเรื่องของการฟ้องร้องแพทย์ ซึ่งหากมีการแก้มาตรานี้ ในอนาคตก็ต้องแก้อีกสุดท้ายก็จะออกมาเหมือนกับหน้าตาของร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ อยู่ดี จึงออกเป็นกฎหมายใหม่เลยดีกว่า เพราะเขียนชัดเจนว่าเมื่อผู้ป่วยรับการชดเชยต้องไม่มีการฟ้องร้องแพทย์ ส่วนที่ว่าใช้งบประมาณสูงและสิ้นเปลืองในการตั้งสำนักงาน ฯลฯ ก็ไม่เป็นจริง เพราะหากกฎหมายนี้ประกาศใช้จะเป็นการโอนภาระงานมาตรา 41 มาทั้งหมด คนที่เคยทำงานตรงนี้ก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม เพียงแต่เป็นการทำงานภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ หรือหากไม่ต้องการใช้รูปแบบเดิม คนเดิมที่เคยใช้หลักเกณฑ์ของ สปสช. ก็โอนมาอยู่ที่กองประกอบโรคศิลปะ สบส. จึงไม่มีการตั้งออฟฟิศใหม่แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวว่าการไม่พิสูจน์ถูกผิดจะทำให้จ่ายชดเชยจำนวนมากโดยไม่สมเหตุผลหรือไม่ นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ตามมาตรา 6 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าการให้ยกเว้นการจ่ายชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กองทุนจะจ่ายให้ในกรณีที่เกิดจากความเสียหายจากการรับบริการจริง ตรงนี้ดูได้ง่ายแม้แต่คนที่ไม่ใช่แพทย์ก็รู้ได้ว่าอะไรคือเหตุสุดวิสัย อะไรคือความเสียหายจริงๆ

ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ที่แพทยสภาคัดค้านนั้นเป็นเพียงแพทย์บางกลุ่มที่ต้องทำตามนโยบายที่ประกาศไว้เมื่อตอนเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภา ไม่ใช่มติบอร์ด เพราะที่จริงแล้วจะมีการประชุมในวันที่ 12 มี.ค. นี้ ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว และที่ สบส.ออกมาทำประชาพิจารณ์ โดยให้นักกฎหมายมาชี้แจงรายละเอียดนั้นทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์นั้นก็เข้าใจมากขึ้นแล้วว่ากฎหมายนี้ช่วยเหลือทั้งแพทย์และคนไข้เอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น