xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ศธ.แก้ธรรมาภิบาล ม.บูรพา-ม.อุบลฯ-ราชภัฏสุรินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ม.บูรพา-ม.อุบลฯ-ราชภัฏสุรินทร์ รวมตัวในนามเครือข่ายเพื่อธรรมาภิบาลฯ ยื่นหนังสือ “กฤษณพงศ์” ขอให้ดูแลปัญหาธรรมาภิบาล และแก้ปัญหาที่ค้างคา เรียกให้ รมว.ศึกษา ใช้อำนาจสั่งการให้นายกสภาฯ-กรรมการสภาฯ-รักษาการอธิการบดีฯ ยุติการทำหน้าที่ และตั้งคนกลางมา ขณะที่ รมช.ศึกษา เผยกรณี ม.อุบลฯ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วน ม.บูรพา ต้องรอศาลปกครองมีคำตัดสินก่อนจึงดำเนินการต่อได้ ยกเว้นในส่วน ม.สุรินทร์ สั่งตั้งคณะทำงานเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำข้อมูลเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มเครือข่ายเพื่อธรรมาภิบาล ในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา (ม.บ.) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (มรภ.สุรินทร์) ประมาณ 30 คน นำโดย ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ อดีต คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 3 แห่ง ซึ่งมี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เข้ารับหนังสือ และร่วมหารือถึงแนวทางแก้ปัญหานานกว่า 1 ชั่วโมง โดย ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ทั้ง 3 แห่งประสบร่วมกันคือ ปัญหาด้านธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ที่ควรมีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานต่างๆ รวมถึงการสรรหาอธิการบดีให้ได้ผู้ที่เหมาะสมสามารถบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม แต่กลับไม่ทำหน้าที่ให้เหมาะสม กลับดำเนินการโดยขัดต่อหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความรับผิดชอบ หลักความโปร่งใส จนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาคมในมหาวิทยาลัย และลุกลามถึงการฟ้องร้องเป็นคดีความทั้งคดีอาญา และคดีทางปกครอง ซึ่งหากปล่อยไว้จึงอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพ และภาพลักษณ์ของระบบอุดมศึกษาไทย

ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี รมว.ศึกษาธิการ ตระหนักถึงปัญหา โดยขอให้ รมว.ศึกษาธิการ นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออาศัยอำนาจ ครม.สั่งให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาในตำแหน่งนายกสภาฯ และรักษาการในตำแหน่งอธิการบดี รวมถึงกรรมการสภาฯ ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันปัญหา และขอให้แต่งตั้งผู้ที่เหมาะสม และเป็นกลางเข้ามารักษาการแทนก่อน นอกจากนี้ ขอให้ ศธ.และสภาปฏิรูปแห่งชาติร่วมกับเครือข่ายประชาคมในสถาบันอุดมฯ หาทางป้องกันปัญหาโดยให้ใน ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ... ฉบับใหม่กำหนดการสรรหากรรมการสภาฯ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ และนายกสภาฯ ต้องมีการคัดกรอง และขึ้นทะเบียนผู้มีคุณสมบัติ และควรคัดเลือกรายชื่อแบบสุ่มเพื่อป้องกันการเกิดผลประโยชน์ต่างตอบแทน กำหนดให้การดำรงตำแหน่งต้องเป็นได้ไม่เกิน 2 แห่ง และเป็นได้เพียงสมัยเดียว การแต่งตั้งรักษาการตำแหน่งใดก็ตามต้องยึดกำหนดเวลาไม่เกิน 180 วันอย่างเคร่งครัด และต้องกำหนดให้บุคคลเดิมทั้งตำแหน่งนายกสภาฯ อธิการบดี จะรักษาการต่อไม่ได้เด็ดขาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ สกอ.กำกับดูแล และจัดการปัญหานี้เร่งด่วน

ด้าน นายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยประสบวิกฤตกันคนละอย่าง ซึ่งในส่วนของ ม.อุบลฯ นั้นอยู่ระหว่างเสนอชื่ออธิการบดีขึ้นทูลเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของ มรภ.สุรินทร์ ถือว่าวิกฤตเพราะมีปัญหายืดเยื้อนานกว่า 6 ปี ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจทำงานมาตลอด แต่เมื่อปัญหามากขึ้นก็ต้องออกไปหาที่ใหม่เกิดปัญหาเลือดไหลออก และยังส่งผลกระทบต่อศรัทธาของสังคมด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเก็บข้อมูล และจำทำการสรุปเพื่อเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณาต่อไป ในส่วนของ ม.บูรพา ยังอยู่ระหว่างการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการสรรหาอธิการบดี เพราะฉะนั้นจะต้องรอก่อนว่าศาลปกครองจะมีคำตัดสิน จึงยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนหนึ่งต้องสร้างกลไกขึ้นมากำกับดูแล ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมไว้ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่









กำลังโหลดความคิดเห็น