ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.บูรพา จัดสัมมนา “บทบาทของนักสาธารณสุข ในฐานะผู้ประสานประโยชน์ทางด้านสุขภาพ” ฉลองครบรอบสถาปนาคณะ 22 ปี คณบดีเผยปัจุจบันภาคตะวันออกกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และสุขภาพจากการทำงาน ต้องเร่งผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการ
วันนี้ (26 ม.ค.) ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสัมมนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นที่ห้อง PH 117 อาคารมหิตลาธิเบศร เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข คณาจารย์ นิสิต และผู้เข้าร่วมโครงการรับฟังปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของนักสาธารณสุข ในฐานะผู้ประสานประโยชน์ทางด้านสุขภาพ” ซึ่งเน้นการทำงานเชิงรุก และประสานประโยชน์ทางด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมี ดร.นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง อดีตผู้อำนวยการภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิด และความรู้ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลก
ขณะที่ รศ.ดร.วสุธร ตันวัฒนกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เผยถึงการจัดโครงการดังกล่าวว่า เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มีภารกิจหลักด้านการเรียนการสอน การวิจัย การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการบริการวิชาการแก่ชุมชนมานานถึง 22 ปี และที่ผ่านมา คณะฯ ได้ผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมและประเทศชาติมากมาย จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านสาธารณสุขต่อไป
“วันที่ 25 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันสถาปนาคณะ ซึ่งการจัดสัมมนาในวันนี้ก็เป็นโครงการต่อเนื่องครบรอบ 22 ปีของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขศาสตร์มาช่วยกันคิด ช่วยกันมองเพื่อให้สุขภาพของเราเชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนโดยส่วนรวม”
ขณะที่เป้าหมายการเรียนการสอนของคณะในปัจจุบัน คือ การมุ่งเน้นด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มี 4 สาขาวิชา คือ สาขาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม สาขาสุขศึกษาและพฤติกรรม และสาขาการจัดการสุขภาพชุมชน ซึ่งทั้ง 4 สาขาสามารถเชื่อมกันให้เรื่องสุขภาพให้เกิดผลดีต่อประชาชน
“ภาคตะวันออกกำลังเผชิญปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้านอาชีวอนามัยค่อนข้างเยอะ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจากการทำงาน เราจึงต้องมีนักอาชีวอนามัย นักอนามัยสิ่งแวดล้อม นักสุขศักษา และนักจัดการสุขภาพชุมชน เพื่อดูแล และเชื่อมประสานการทำงาน ซึ่งในแต่ละปีเราผลิตบุคลากรทั้งหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก โดยบัณฑิตปริญญาตรีประมาณ 1.4 พันคนต่อปี ปริญญาโท 200 กว่าคน และปริญญาเอก ที่เพิ่งเปิดเป็นรุ่นที่ 3 จึงทำให้มีบัณฑิตระดับปริญญาเอกประมาณ 15 คน”
รศ.ดร.วสุธร ยังกล่าวอีกว่า การผลิตบุคลากรในสายงานดังกล่าวป้อนสู่องค์กรต่างๆ ในภาคตะวันออกแต่ละปีของมหาวิทยาลัย ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย เพราะในแต่ละปีแต่ละสาขาวิชา จะมีโรงงานแสดงความจำนงค์ขอรับนักศึกษาที่จบการศึกษาจากเราเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ CP จะส่งผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์มาคัดเลือกบุคลากรในทุกปี และเกือบ 100% ที่จบจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานทั้งหมด