กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยผู้บริหาร ได้เชิญคณะทูตานุทูตพร้อมคู่สมรส 26 ประเทศ เดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่ขณะนี้กำลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนธันวาคมนี้
ขณะเดียวกัน ยังพาคณะทูตานุทูตชมแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง มีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรี พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ชมขั้นตอนการทอผ้าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษบนผืนผ้ามีลวดลายโดดเด่นเอกลักษณ์สื่อให้เห็นว่า ผืนนี้ล่ะบ้านเชียง
จากนั้น คณะทูตานุทูตได้เดินทางจาก จ.อุดรธานี ไป จ.หนองคาย เพื่อข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เชื่อม 2 ประเทศไปเยี่ยมชมแหล่งมรดกวัฒนธรรมในเมืองหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีหลี บุญค้ำ เอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย และภริยา พาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเวียงจันทน์ ประตูชัย แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพาเข้าสักการะวัดพระธาตุหลวงที่งดงามตระการตา
คราวนี้มาฟังการเสนอภูพระบาทขึ้นเป็นมรดกโลก เริ่มจาก หลี บุณค้ำ บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว มีมาอย่างยาวนาน ทั้งระดับราชวงศ์ รัฐบาล รวมถึงประชาชน 2 ประเทศ จะว่ากันไปแล้วมีความผูกพันใกล้ชิด ที่สำคัญ 2 ประเทศสามารถสื่อสารกันเข้าใจโดยไม่ต้องใช้ล่าม วัฒนธรรมประเพณีก็คล้ายคลึงกัน เรียกได้ว่าเราเป็นพี่น้องกัน เมื่อรัฐบาลไทยผลักดันให้ภูพระบาทขึ้นมรดกโลก ผมพร้อมกันให้การสนับสนุน หากขึ้นเป็นมรดกโลกเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวผลัดเปลี่ยนมาชมความงดงามที่ธรรมชาติบรรจงสร้างสรรค์ และมั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเวียงจันทน์ด้วย
หลี บุณค้ำ บอกว่า ปัจจุบันเวียงจันทน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละกว่า 3 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านคน สิ่งที่นักท่องเที่ยวชอบมาก คือ วิถีชีวิต วัด และประวัติศาสตร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเดินทางจากไทยมายังลาว ทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งการคมนาคมสะดวก รวดเร็ว หากประตูเศรษฐกิจอาเซียนเปิดเมื่อไหร่ มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลมาสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทั้งของไทย-ลาว เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าเมื่อเดินทางมาเวียงจันทน์ จะเดินทางต่อไปหลวงพระบาง
ด้าน H.E.Mr.Chukwudi Newington Okafor (ปูควูดี้ นิววิงตัน โอคาฟอร์) เอกอัครราชทูตไนจีเรีย กล่าวว่า รู้สึกดีใจ และตัดสินใจถูกที่ได้ร่วมทริปนี้ เพราะถ้าหากนั่งอยู่ที่ออฟฟิศก็คงไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และความงามทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีมายาวนานขนาดนี้ ยกตัวอย่างบ้านเชียง ผมรู้สึกประทับใจมาก ที่มีการอนุรักษ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างดีเยี่ยม
สำหรับภูพระบาทก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ผมรู้สึกดีใจ และภูมิใจแทนคนไทยที่รักษามรดกเหล่านี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น และเรียนรู้
ขณะที่ H.E. Mr.Kesang Wangdi (เคซัง วังดี) เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อได้ลงพื้นที่บ้านเชียง ภูพระบาท ได้รับทราบเรื่องราวประวัติความเป็นมา ซึ่งภูฏานก็ให้ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์เช่นกัน แล้วทั้ง 2 ประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย ผมคิดว่าคนภูฏาน น่าจะสนใจแหล่งประวัติศาสตร์ อารยธรรม อย่างนี้มาก อีกอย่างหนึ่งวัฒนธรรมที่เราเก็บไว้ ยังอยู่ในสภาพที่ดี จุดเด่นเหล่านี้นับว่าเป็นเสน่ห์ให้นักท่องเที่ยวมาเยือนบ้านเชียง ภูพระบาท มากขึ้น
...เมื่อตัวแทนหลายประเทศสนับสนุน เชิญชวนให้คนบ้านเขามาสัมผัสวัฒนธรรม วิถีชีวิต รากเหง้า ความงดงามบ้านเรา นับจากนี้คงขึ้นอยู่กับไทย จะชูจุดขาย ไฮไลต์ วางแผนรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวอย่างไรให้เขาเกิดความรู้สึกประทับใจ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่