xs
xsm
sm
md
lg

จวกกลุ่มอวย “สเต็มเซลล์” ศาสตร์ทางเลือก หวังเลี่ยงคุมมาตรฐาน ยัน พ.ร.บ.ไม่กีดกันรักษา-วิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แพทยสภาโต้ ร่าง พ.ร.บ. สเต็มเซลล์ ไม่กีดกัน “รักษาโรค - วิจัย” ย้ำมีเพื่อคุ้มครองประชาชน หลังพบถูกหลอกเพียบ ด้านหัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด จุฬาฯ อัดพวกอวย “สเต็มเซลล์” เป็นศาสตร์ทางเลือก หวังเลี่ยงคุมมาตรฐาน จวกไร้ความรับผิดชอบ ชี้ทุกวิธีต้องวิจัยว่าปลอดภัยจริง ยันไร้ข้อมูลช่วยชะลอแก่ ระบุเสี่ยงแพ้ถึงขั้นช็อกตาย กลายเป็นเนื้องอก และมะเร็ง

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีสมาคมเซลล์บำบัดไทยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) พ.ศ. ... เนื่องจากเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้เข้าถึงการรักษา และกีดกันแพทย์ไม่ให้ทำการวิจัยวิธีรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการกีดกันการรักษาของประชาชน เพียงแต่ออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกหลอกจากวิธีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ยังไม่ได้รับการรับรอง เพราะคนไทยถูกหลอกเยอะ อย่างกรณีพาผู้ป่วยไปฉีดเฟรชเซลล์ที่ประเทศเยอรมนี จากการอ่านเอกสารก็พบว่า ที่เยอรมนียังให้คนไข้เซ็นชื่อรับทราบว่า วิธีการดังกล่าวยังไม่มีการรับรองว่าสามารถรักษาโรคได้ผลดี แต่กลับไม่เคยมีใครอธิบายเรื่องนี้ให้คนไข้ทราบ ส่วนการกีดกันแพทย์ไม่ให้วิจัยนั้น คือถ้าจะทำต้องมาขออนุญาตก่อนเท่านั้นเอง เพื่อที่จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันก็มีแพทย์ที่ศึกษาเรื่องนี้จำนวนไม่น้อย

ด้าน นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยอมรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์เพียง 5 โรคทางโลหิตวิทยา ยังไม่ได้รับรองการรักษาอื่นๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่หากมีการรักษาใหม่ๆ ที่มีหลักฐานเป็นที่ยอมรับ แพทยสภาและผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยต่างๆ ก็จะพิจารณาให้การรับรอง อย่างปลายปี 2557 ที่ยุโรปประกาศจะยอมรับผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์กระจกตา เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคสเต็มเซลล์กระจกตาเสื่อม หลังจากวิจัยมาแล้วกว่า 10 ปี ถ้าไทยจะยอมรับเป็นการรักษามาตรฐานตามยุโรป ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯและแพทยสภาก็ต้องมากำหนดคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการ มาตรฐานการปลูกถ่าย และสถานที่ให้บริการ

นพ.นิพัญจน์ กล่าวว่า ส่วนที่ว่าสเต็มเซลล์จะเข้าไปช่วยเพิ่ม “เทโรเมีย” ชะลอความแก่นั้น แม้สเต็มเซลล์บางชนิดจะมีเอนไซม์เทโรเมอเรสในเซลล์มากกว่าเซลล์ร่างกายทั่วไป แต่ไม่มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์สามารถทำให้เทโรเมียเพิ่มขึ้นในเซลล์อื่นๆ ในทางวิทยาศาสตร์มีวิธีที่จะเพิ่มเทโรเมียในเซลล์ได้ แต่วิธีที่ใช้ซับซ้อนกว่านี้มาก ไม่สามารถหวังว่าสารที่สเต็มเซลล์หลั่งจะทำให้เกิดผลดังกล่าว แต่ในทางกลับกันหากนำไปใช้ไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสี่ยง คือ เกิดการแพ้ตั้งแต่ในระดับเล็กน้อย จนถึงขั้นช็อก เสียชีวิต เส้นเลือดอุดตัน ทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ไตวาย หรือกลายเป็นเซลล์ชนิดที่ไม่ต้องการ เช่น กระดูกในหัวใจ เนื้องอก และกรณีเพาะเลี้ยงเซลล์ของตัวเองข้างนอกก่อนปลูกถ่ายเข้าไป มีความเสี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเป็นเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ คลินิกที่ไม่ได้รับการควบคุมยังมีการผสมสารต่างๆ ที่อันตรายเข้าไปด้วย

วิธีที่นำมารักษาผู้ป่วยทุกประเภทต้องผ่านการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดว่าปลอดภัยต่อผู้ป่วยจริง ซึ่งอนาคตสเต็มเซลล์อาจนำไปใช้รักษาโรคได้อีกมาก แต่การออกมาบอกว่า สเต็มเซลล์เป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกน่าจะเพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุม ทั้งที่ความจริงก็ต้องทำให้มีความชัดเจน ไม่ใช่อ้างว่าเป็นศาสตร์ทางเลือกก็ไม่ต้องมีมาตรฐานใด แล้วออกมาให้ข้อมูลคนไข้และสื่อต่างๆ อย่างไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เมื่อเกิดผลข้างเคียง และคิดเงินแพงเท่าไรก็ได้” นพ.นิพัญจน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น