xs
xsm
sm
md
lg

“คนสูงวัย” ปากแห้ง น้ำลายน้อย เตือนกินข้าวคำโตเสี่ยงติดคอถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย แนะผู้สูงอายุ ระบบร่างกายเปลี่ยน กลืนอาหารยากแนะเลี่ยงกินอาหารคำโต ชี้ลูกหลานควรใกล้ชิดป้องกันการสำลักอาหาร-อาหารติดคอ

 
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้สูงอายุ วัย 70 ปี ที่กินขนมเข่งแล้วเกิดติดคอขาดอากาศหายใจจนถึงแก่ชีวิตนั้นว่า เป็นเหตุมาจากการกินขนมเข่งที่ชิ้นใหญ่เกินไปโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดก่อน จึงเกิดการติดคอและปิดกั้นหลอดลมจนขาดอากาศหายใจ โดยปกติแล้วขนมเข่งจะมีลักษณะนิ่มแต่เหนียวมาก หากกินชิ้นใหญ่และไม่เคี้ยวให้ละเอียดก็อาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ไม่เพียงแค่ขนมเข่งอย่างเดียวที่ต้องใส่ใจในการกิน อาหารอื่นๆ ก็เช่นกันหากกินชิ้นใหญ่ หรือเคี้ยวไม่ละเอียดก็มีโอกาสเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะวัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งการกลืนอาหารด้วย
 
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาในการกลืนอาหาร เริ่มตั้งแต่ในช่องปาก พบว่าผู้สูงอายุมีอาการปากแห้งการสร้างน้ำลายน้อยลง การที่ไม่มีฟันและกำลังของการบดเคี้ยวลดลงทำให้ผู้สูงอายุต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารเพิ่มนานยิ่งขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลงทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร อีกทั้งคอหอยของผู้สูงอายุปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารมากขึ้นเช่นกัน และด้านการหายใจผู้สูงอายุต้องหยุดหายใจขณะกลืนจะเกิดขึ้นเร็วและนานขึ้น โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้าทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที ผู้สูงอายุจึงมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากกลืนอาหาร จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสำลักได้ง่าย
 
“ทั้งนี้ ผู้สูงอายุต้องใส่ใจเรื่องการกินอาหารให้ปลอดภัย หรือลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ 1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที 2) กินอาหารช้าๆ อย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ 3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อย หรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที 4) อาหารที่กินควรมีขนาดชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป 5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การดูทีวี 6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย 7) อาจกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว และ 8) อย่ากินอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่ม และนุ่มขึ้น”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น