xs
xsm
sm
md
lg

สนไหม? งานท่องเที่ยวขาดแคลนคนกว่า 4 หมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กพร.ปช. ไฟเขียวแผนพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมยานยนต์กว่า 1.2 แสนคน ชี้ ใน 5 ปี สาขาท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงานกว่า 1 หมื่นคน รมว.แรงงาน เผย ผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบไทยมีสัดส่วนวิศวกร - แพทย์ - พยาบาล รั้งท้ายอาเซียน แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมพัฒนาภาษา - ไอที - คณิตศาสตร์ - ปรับทัศนคติเด็กไทยเรียนสายอาชีพมากขึ้น

วันนี้ (11 ก.พ.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ได้เสนอแผนพัฒนาบุคลากรต่อที่ประชุม โดยตั้งเป้าในปี 2563 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 3.5 ล้านคัน ความต้องการแรงงานในช่วงตั้งแต่ปี 2556 - 2560 อยู่ที่กว่า 124,000 คน ซึ่งการพัฒนาเน้นให้มีทักษะฝีมือและมาตรฐานวิชาชีพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีมาตรฐานระดับสากล โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนดังกล่าว และให้ กพร. ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาแรงงานตามแผนที่วางไว้

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เสนอข้อมูลแรงงานด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 44,000 คน เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานปูเตียง นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานได้เสนอโครงการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในจำนวน 10,000 คน ในสาขาต่างๆ เช่น พนักงานต้อนรับ เชฟ พนักงานทำความสะอาด พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ โดยใช้งบรองรับกว่า 98 ล้านบาท ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ กพร. ไปหารือในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณแล้วนำข้อสรุปมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอผลกการศึกษาการเตรียมแรงงานไทยเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งพบว่าแรงงานสาขาต่างๆ มีทักษะด้านภาษา ไอที และการคิดคำนวณต่ำกว่าที่นายจ้างต้องการ ทั้งยังได้จัดอันดับสัดส่วนแรงงานทักษะฝีมือของไทยต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศใน 7 สาขา โดยเปรียบเทียบกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ พบว่า สาขาแพทย์ของไทยมีสัดส่วนต่อประชากรอยู่อันดับ 7 ทันตแพทย์ อยู่อันดับ 5 พยาบาล อยู่อันดับ 6 นักบัญชี อยู่อันดับ 1 สถาปนิก อยู่อันดับ 4 วิศวกร อยู่อันดับ 8 และนักสำรวจ อยู่อันดับ 1 ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้เสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา ไอที และการคำนวณ รวมทั้งปรับทัศนคติเด็กไทยให้หันมาด้านอาชีวศึกษามากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น