xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ศธ.เร่งดัน ร่าง พ.ร.บ.ตั้งกระทรวงอุดมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองนายกฯ กำชับ ศธ. เร่งดันร่าง พ.ร.บ. ตั้งกระทรวงอุดมฯ ขณะที่ “กฤษณพงศ์” เตรียมหารือ ทปอ. วางระบบธรรมาภิบาล มอบเลขาฯ กกอ. หารือกับ กกอ. ตั้งอนุกรรมการธรรมาภิบาล ดูแลบุคลากรในมหา’ลัย

วันนี้ (10 ก.พ.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และตน โดยรองนายกฯ ได้ย้ำว่าอยากให้ ศธ. เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งคิดว่ารองนายกฯค่อนข้างให้ความสำคัญ เพราะไม่ได้มองเฉพาะประเด็นแยกโครงสร้างเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ระบบอุดมศึกษาสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น คือทำหน้าที่ผลิตคนเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งเท่าที่ทราบสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งร่างดังกล่าวให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ตนจะเน้นย้ำเรื่องการเพิ่มศักยภาพมหาวิทยาลัย ให้สามารถจัดการศึกษา รวมถึงทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตนได้หารือกับหลายมหาวิทยาลัยว่าอาจจะต้องมีทีม ที่เข้ามาช่วยวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานเรื่องนี้ในภาพรวม เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น อีกประเด็นที่จะหารือ คือ การวางระบบธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องทำทั้งภายในมหาวิทยาลัยเอง และระบบธรรมาภิบาลจากภายนอก คือ รัฐเข้าไปมีส่วนในการกำกับดูแล

“การให้รัฐมีส่วนร่วมทำได้หลายแนวทาง โดยทางหนึ่งที่คิดไว้ คือ จะขอให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) หารือกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ตั้งอนุกรรมการธรรมาภิบาล ใน กกอ. ขณะเดียวกัน ผมจะไปหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องการสร้างระบบธรรมาภิบาล ในการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการได้มาซึ่งอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาฯ รวมถึงกติกาต่างๆ ซึ่งต้องดูในเชิงระบบคิดว่าน่าจะสามารถทำได้ แต่อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยกันคิด และวางแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน” นายกฤษณพงศ์ กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ยังอยากเห็นเครือข่ายมหาวิทยาลัย จัดการเรื่องระบบธรรมาภิบาลกันเอง ในรูปแบบมหาวิทยาลัยเพื่อนช่วยเพื่อน โดยนำกรณีศึกษาทั้งเรื่องดีและไม่ดี มาแลกเปลี่ยน และหาแนวทางป้องกันร่วมกัน
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น