“ณรงค์” ย้ำลดวิชาสอบ O-Net แต่ไม่ได้ทิ้งการสอบใน 3 กลุ่มสาระฯ ที่เหลือ ชี้เด็กยังต้องสอบทั้ง 8 กลุ่มเพียงแต่กลุ่มที่เหลือที่เกี่ยวกับบริบทแต่ละพื้นที่ ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้ ย้ำเป็นหน้าที่ ร.ร. ต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็ก
วันนี้ (5 ก.พ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เสนอให้ปรับลดการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ ว่า ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครั้งที่ผ่านมา สทศ. ได้รายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยนโยบายการปรับลดการสอบ O-Net ลงเหลือ 5 กลุ่มสาระฯ คือ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ นั้น ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มสาระฯ ที่เหลือ คือ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี เพียงแต่เห็นว่าวิชาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น หากให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบเองน่าจะสอดคล้อง และวัดผลได้ตรงมากกว่าให้ส่วนกลางจัดสอบ ไม่ใช่ว่าจะไม่สอบวิชาที่เหลือเลย เท่ากับว่าเด็กยังคงต้องสอบครบ 8 กลุ่มสาระฯ เท่าเดิม
“ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อปรับลดวิชาลงเด็กและครูจะไม่สนใจวิชาเหล่านี้ และจะมุ่งเฉพาะวิชาที่ สทศ.จัดสอบเท่านั้นเพราะมีผลต่อการนำไปใช้ อาทิ เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ (แอดมิชชัน) ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 เป็นต้น ในเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ที่โรงเรียนต้องไปสร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนในวิชาเหล่านี้ ไม่ใช่เห็นว่าสทศ.ไม่จัดสอบก็ไม่สนใจ และทั้ง 3 กลุ่มสาระฯ ที่ตัดออกจะไม่ใช่วิชาหลัก แต่เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งแต่ละแห่งจะมีบริบทต่างกัน หากจะใช้ข้อสอบกลางเหมือนกันทั้งประเทศก็จะไม่สามารถวัดผลได้ตรงกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผล ขณะที่วิธีนี้ก็จะได้ไม่เป็นภาระกับการจัดสอบของสทศ.มากเกินไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเริ่มใช้เมื่อไร คงต้องขอไปดูรายละเอียดที่ สทศ. เสนอมาให้ชัดเจนก่อน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่