xs
xsm
sm
md
lg

รถฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุเอง 61 ครั้ง สพฉ.เร่งจัดอบรมขับขี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฉ. เร่งจัดอบรมขับขี่รถพยาบาล หลังพบปี 57 เกิดอุบัติเหตุรวม 61 ครั้ง ตายกว่า 10 ราย พร้อมแนะวิธีขับรถหากพบรถพยาบาลฉุกเฉินขอทาง ย้ำตั้งสติ ช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ช่วยคนเจ็บรอดชีวิต ย้ำความเร็วสูงสุดรถพยาบาลไม่เกิน 105 กม./ชม. เผยมีระบบติดตามคอยตรวจสอบและแจ้งเตือน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ตลอดปี 2557 พบว่า มีรถพยาบาลในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและรถพยาบาลในระบบส่งต่อประสบอุบัติเหตุ 61 ครั้ง โดย มิ.ย.- ส.ค. พบมากที่สุด คือ 25 ครั้ง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้บาดเจ็บมากที่สุดถึง 50 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 38 ราย มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19 ราย จำนวนนี้เป็นพยาบาล 2 ราย อาสาสมัคร 6 ราย ที่เหลือเป็นผู้ป่วย พนักงานขับรถ ญาติผู้ป่วย และคู่กรณีจากสถิติจะเห็นว่าเราต้องสูญเสียบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินไปจำนวนมาก สพฉ. จึงจัดโครงการอบรมการขับขี่ปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถ พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรพนักงานขับรถพยาบาล รวมถึงการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถ และกำหนดคุณสมบัติของพนักงานขับรถพยาบาลให้ชัดเจน เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติของรถพยาบาล

นพ.อนุชา กล่าวว่า พนักงานขับรถพยาบาลจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานขับรถพยาบาลและได้รับใบอนุญาตขับรถพยาบาล และพยาบาลที่ทำหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ รถพยาบาลเองจะต้องมีการปรับปรุงให้แข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะสามารถลดความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตั้งระบบติดตามรถพยาบาล (Ambulance Tracking) เพื่อควบคุมการใช้รถพยาบาลและติดตามระดับความเร็วของรถพยาบาลไม่ให้เกินที่กฎหมายกำหนด โดยเบื้องต้นมีการทดลองใช้กับรถของ สพฉ.แล้ว หากพนักงานขับรถเร็วเกินกำหนด ศูนย์สื่อสารสั่งการจะมีการแจ้งเตือนไปยังพนักงานขับรถให้ลดความเร็วทันที โดยหลักในการขับรถพยาบาลที่ต้องใช้ความเร็วมากที่สุดคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยจะขับรถได้ไม่เกิน 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากการที่รถพยาบาลขับรถด้วยเร็ว แต่เกิดจากผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรถพยาบาลจนทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่ง สพฉ. ได้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน และเข้าใจการทำงานของรถพยาบาลฉุกเฉินให้มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อประชาชนเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนก็มักจะตกใจและทำอะไรไม่ถูก ดังนั้น ผู้ขับขี่ควรตั้งสติ และพยายามมองกระจกหลังเพื่อกะระยะของรถพยาบาลที่วิ่งมา และเมื่อพิจารณาปริมาณรถทั้งซ้ายและขวาที่อยู่ใกล้แล้วพบว่าไม่มีอันตรายและเราสามารถเบี่ยงชิดซ้ายได้ ให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วรถและเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถพยาบาลทันที” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

นพ.อนุชา กล่าวว่า หากไม่สามารถหลีกทางได้ด้วยสภาพรถที่หนาแน่นและมีอันตรายก็ให้หยุดชะลอลดให้นิ่ง เพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินหาทางวิ่งผ่านเราไปให้ได้ และเมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไปแล้วห้ามขับตามเด็ดขาด ส่วนกรณีรถติดและรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ด้านหลังพอดีให้พิจารณาว่าควรชิดซ้ายหรือชิดขวาดี ถ้าไม่มีใครหลีกทาง ให้ผู้ขับขี่เลือกว่าจะหลบทางไหนและเปิดไฟเลี้ยว เพื่อให้สัญญาณให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ได้แซงผ่านไปได้สะดวก

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น