สสส. อ้อนรัฐบาลแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเหล้า ห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ หลังกฎหมายเก่าเปิดช่องโฆษณาภาพลักษณ์ บ.น้ำเมา ส่งผลลดปริมาณนักดื่มยาก เหตุชวนเชื่อให้คนรุ่นใหม่อยากดื่ม อยากเป็นเจ้าของ ชี้ห้ามโฆษณาทั้งหมดลดอัตราการดื่มลงได้ 11%
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อช่วงปี 2538 - 2548 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี แต่ช่วงปี 2548 - 2552 เฉลี่ยลดลง 1.5% ต่อปี ซึ่งหลังจากนี้การลดปริมาณนักดื่มจะทำได้ยากขึ้น เพราะ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2550 เปิดช่องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณาภาพลักษณ์สินค้าได้ ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการออกโฆษณาภาพลักษณ์ผ่านทั้งช่องทางบิลบอร์ด โทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ บวกกับการบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้กลไกการตลาดในรูปแบบต่างๆ มากเกินไป ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า การโฆษณาทั้งกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารออนไลน์ มีผลสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก ส่งผลให้หน่วยงานราชการที่พยายามสร้างภาพลักษณ์เชิงลบทำงานยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ ในการถูกชักชวนให้อยากดื่ม อยากเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ จึงหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญและแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดีขึ้น โดยให้มีการห้ามโฆษณาในทุกรูปแบบ ซึ่งจะทำให้การทำงานลดปริมาณนักดื่มทำได้ดีมากขึ้น
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า มีการศึกษาในต่างประเทศเมื่อปี 1997 ว่า ประเทศที่มีการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางส่วน (partial ban) มีอัตราการดื่มลดลง 16% เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีการควบคุมเลย ส่วนประเทศที่ห้ามการโฆษณาโดยสิ้นเชิง (total ban) มีอัตราการดื่มลดลง 11% เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการควบคุมบางส่วน และประเทศที่มีการควบคุมการโฆษณาบางส่วน และมีอัตราการลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนคิดเป็น 10% และ 23 % ตามลำดับ ยิ่งควบคุมการโฆษณามาก การดื่มและผลกระทบจากการดื่มจะยิ่งบรรเทาลง
“การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อพฤติกรรมการดื่ม ความตั้งใจในการดื่มในอนาคต การตระหนักรู้ และการชอบโฆษณาของเยาวชนอย่างชัดเจน ดังนั้น การควบคุมการโฆษณาอย่างเข้มงวดขึ้นจึงไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงการควบคุมผลกระทบทางลบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ยังจะสามารถช่วยปกป้องเยาวชนจากภัยร้ายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่