xs
xsm
sm
md
lg

ออกระเบียบเพิ่มโทษ “ทุจริตสอบ” นร.-คนคุมสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทศ. ออกระเบียบกำหนดโทษทุจริตการสอบ ทั้งนักเรียน - ครู - กรรมการคุมสอบ ระบุชัดไม่ประกาศผลสอบ ส่งชื่อต้นสังกัดพิจารณาโทษทางวินัย หากระบบเสียหายเตรียมดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย หากเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือทำงาน จะส่งข้อมูลให้สถาบันฯ - หน่วยงานพิจารณา

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสนามสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ประจำปีการศึกษา 2558 ซึ่งจัดสอบวันที่ 17 - 18 ม.ค. 2558 พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่า การสอบในวันแรกยังไม่พบการทุจริต ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยวันแรกนี้มีการสอบ 4 วิชา คือ ชีววิทยา ฟิสิกส์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา สำหรับจำนวนผู้เข้าสอบในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 176,211 คน ใน 16 ศูนย์สอบ 125 สนามสอบ กระจาย 45 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับข้อกังวลเรื่องการทุจริตนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ด สทศ. ได้ออกระเบียบฯ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบ พ.ศ. 2557 กำหนดโทษของนักเรียนผู้เข้าสอบ กรรมการคุมสอบ และกรรมการประจำศูนย์สอบ

นายประสาท กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าวนั้น หากผู้เข้าสอบมีการทุจริตหรือฝ่าฝืนข้อบังคับการสอบ สทศ. จะลงโทษโดยไม่ประกาศผลสอบในรายวิชานั้นหรือทุกวิชา และจะส่งรายชื่อผู้เข้าสอบที่ทุจริตไปยังสถานศึกษาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และหากเป็นการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือนำผลสอบไปใช้ในการสมัครงานจะส่งรายชื่อไปยังสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่ผู้เข้าสอบสมัครงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเข้าเรียนต่อหรือทำงาน นอกจากนี้ หากเกิดความเสียต่อระบบการทดสอบและเกิดความเสียหายกับ สทศ. ก็จะดำเนินการตามกฎหมายด้วย สำหรับกรรมการคุมสอบ และกรรมการประจำศูนย์สอบ หากพบการทุจริตและฝ่าฝืนระเบียบการคุมสอบ จะขึ้นบัญชีดำไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทดสอบ และแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดให้ดำเนินการทางวินัย และแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมายเช่นกัน

ขณะนี้ สทศ. ได้ส่งหนังสือแจ้งระเบียบฯดังกล่าวไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว และถือว่าระเบียบฯนี้มีผลบังคับใช้กับการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชาครั้งนี้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจะดูจากพฤติกรรมและเจตนาของผู้กระทำผิดเป็นหลัก เพราะสิ่งเราทำเป็นการป้องกันให้ระบบการสอบมีมาตรฐาน รวมทั้งอยากให้ทุกคนมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย” นายประสาท กล่าวและว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ นำคะแนนสอบไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบรับตรง หรือเข้าร่วมระบบรับตรงผ่านเคลียริงเฮาส์มากขึ้นจากปีแรกที่มีผู้สมัครสอบเพียง 50,000 คน เป็น 170,000 คน ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยเห็นว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามความต้องการ โดยในปี 2559 จะเพิ่มการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เป็น 9 วิชา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนสายสังคมศึกษาได้เข้าสอบและนำไปใช้ต่อในการศึกษาต่อมากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น