xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะจ่อ! ยกร่างหลักสูตร ปวส.ใหม่เติมเต็มส่วนขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สอศ. เตรียมยกร่างหลักสูตร ปวส. ใหม่ สำหรับเด็กที่จบ ม.6 และเด็กที่จบ ปวช. เน้นเติมเต็มความรู้ทั้งสายสามัญและอาชีพในส่วนที่เด็กขาด แต่ใช้เวลาเรียนเท่ากัน ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเด็ก ปวส.ในปีการศึกษา 58 ให้ได้หวังรองรับความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ (5 ม.ค.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2558 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีแผนเพิ่มจำนวนผู้เรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการช่างฝีมือแรงงานของภาคอุตสาหกรรม โดยกำลังเตรียมยกร่างหลักสูตร ปวส. ใหม่ เพื่อรองรับเด็กที่จบจากชั้น ม.6 จะได้ไม่ต้องเรียนเก็บหน่วยกิตเพิ่มเติมจากผู้เรียนที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อีก 19 หน่วยกิตเหมือนปัจจุบัน ซึ่งการเรียนเพิ่มมากกว่าเด็กที่จบจาก ปวช. เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กจบ ม.6 ไม่เลือกที่จะมาเรียนต่อ ปวส. ดังนั้น ในปีการศึกษาหน้าหลักสูตร ปวส. จะมีทั้งหลักสูตรสำหรับเด็กจบ ม.6 และหลักสูตรสำหรับเด็กที่จบ ปวช. มา

เด็กที่ผ่านการเรียนระดับ ปวช. มาจะได้เรียนวิชาชีพเยอะ แต่เรียนวิชาสามัญน้อย ขณะที่เด็กจบจากชั้น ม.6 จะได้เรียนวิชาสามัญเยอะ แต่เรียนวิชาชีพน้อย ดังนั้น หลักสูตร ปวส. ใหม่ จะเติมเต็มความรู้ในส่วนที่เด็กทั้ง 2 กลุ่มยังขาดอยู่ และเด็กจะใช้เวลาเรียนเท่ากัน ส่วนจะจัดสอนแบบแยกหรือรวมเด็กทั้ง 2 กลุ่มนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานศึกษาว่าจะจัดแบบใด ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน” นายชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า สำหรับยอดผู้เรียน ปวส. ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ปัจจุบันมีประมาณ 1.5 แสนคน โดยเป็นเด็กที่จบจากชั้น ม.6 ประมาณ 20% ส่วนที่เหลือเป็นเด็กที่จบ ปวช. ขณะที่มีผู้จบชั้น ม.6 ทั่วประเทศประมาณ 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อปริญญาตรีมากถึง 1.7 แสนคน และมีผู้ที่ตัดสินใจออกมาทำงานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อมีหลักสูตรปวส.ที่รองรับเด็กทุกกลุ่มได้ ก็จะดึงดูดให้เด็กหันมาเรียนต่อปวส.มากขึ้น รวมถึงกลุ่มที่ตัดสินใจออกไปทำงานได้กลับมาเรียนเพิ่มวุฒิการศึกษาด้วย
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น