สอศ. เตรียมนำร่องการบริหารอาชีวศึกษา ชูรูปแบบใช้จังหวัดเป็นฐาน เตรียมตั้งบอร์ดระดับจังหวัด ทำหน้าที่วางแผนการผลิตกำลังสายอาชีพในพื้นที่ แจกงานให้วิทยาลัยผลิตคนตามแผน
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมที่จะกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปยังพื้นที่ โดยในเร็วๆ นี้ จะนำร่องการบริหารจัดการอาชีวศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐานในบางจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้จังหวัดเป็นฐานในการบริหารงานเช่นกัน ทั้งนี้ รูปแบบการบริหารงานในการใช้จังหวัดเป็นฐาน จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา มีโครงการของคณะกรรมการจะประกอบด้วย 3 ภาคส่วน คือ ตัวแทนวิทยาลัยอาชีวศึกษาในจังหวัดทั้งรัฐและเอกชน ตัวแทนสถานประกอบการภาคเอกชนในจังหวัด หอการค้า อุตสาหกรรม และภาคราชการอื่นๆ ในจังหวัด เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แรงงานจังหวัด รวมทั้งฝ่ายปกครองในจังหวัดด้วย
“คณะกรรมการอาชีวศึกษาระดับจังหวัดนี้ จะเป็นเหมือนซีอีโอด้านอาชีวศึกษาในจังหวัด ช่วยกันวางแผนการพัฒนากำลังคนสายอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการและภาคเอกชนในพื้นที่ คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้กำหนดว่าในจังหวัดนั้นจะผลิตกำลังคนในสาขาใดบ้างในจำนวนเท่าไหร่ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งไหนจะเป็นผู้ผลิต ทั้งนี้การบริหารจัดการโดยใช้จังหวัดเป็นฐานจะช่วยกันผลิตกำลังคนสายอาชีพในจังหวัดตรงกับความต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยแบ่งภาระของระบบสถาบันการอาชีวศึกษาที่มีอยู่ 19 แห่ง” เลขาธิการ กอศ. กล่าวและว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันในแต่ละจังหวัดจะมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาอยู่ในจังหวัดนั้นประมาณ 2-98 วิทยาลัย และจังหวัดที่มีวิทยาลัย 98 แห่ง ก็อยู่ในกรุงเทพมหานครและมีจังหวัดที่ไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ประมาณ 7 จังหวัด โดยที่ผ่านมาวิทยาลัยอาชีวศึกษาแต่ละแห่งจะทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่ค่อยมีความร่วมมือในระดับจังหวัด และบางจังหวัดก็เกิดปัญหาการแยกเด็กกัน โดยเฉพาะปัญหาการแยกนักเรียนระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน แต่หากมีคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาวางแผนแล้วก็จะแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่