xs
xsm
sm
md
lg

นักสืบโรคโอดไร้ค่าเวร ค่าเสี่ยงภัย ทำคนเรียนน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักระบาดวิทยาโอดไร้ค่าเวร ค่าเบี้ยเลี้ยงต่อวันน้อย ค่าเสี่ยงภัยได้แค่การตรวจโรคอีโบลา ทั้งที่ต้องตรวจโรครุนแรงมากมาย ชี้สาเหตุแพทย์จบใหม่ไม่เลือกเรียน จนทำให้เกิดปัญหา “นักสืบโรค” ขาดแคลน ด้าน ผอ.สำนักระบาดฯ เผยเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น ผลิตนักระบาดเพิ่มแต่ยังไม่เพียงพอ เหตุคนเรียนเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่คนทำงานในพื้นที่

วันนี้ (23 ธ.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาแพทย์ระบาดวิทยาขาดแคลนว่า เดิมแพทย์สายนี้ต้องเรียนจบ 3 ปีและมาสอบจึงจะได้วุฒิบัตรแขนงระบาดวิทยา ซึ่งใช้เวลานาน คนเรียนน้อย การแก้ปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมาคือ พัฒนาแพทย์สายระบาดเพิ่มเติม โดยเปิดสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้น 120 ชั่วโมง โดยแพทย์ที่มาเรียนเป็นแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็สามารถมาเรียนได้ ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ที่มาเรียนประมาณ 20-30 คนต่อปี ก็ยังคงเป็นแพทย์ผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นหลัก ไม่ใช่แพทย์ทั่วไปที่ต้องการทำงานภาคสนาม ดังนั้น การจะดึงคนเข้าทำงาน สิ่งสำคัญจึงต้องสร้างแรงจูงใจ นั่นคือ ค่าตอบแทนต้องเพิ่มขึ้น

พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษแขนงระบาดวิทยา หรือนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ตนทำงานภาคสนามมากว่า 10 ปี ผ่านทั้งเหตุการณ์ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงกรณีภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ต้องประสบกับความเสี่ยงทั้งสิ้น อย่างไข้หวัดนกก็ต้องเข้าไปในฟาร์มไก่ หรือการระบาดของทางเดินหายใจก็ต้องเข้าไปในครอบครัว ในชุมชนที่เกิดเหตุ แม้แต่สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือบริเวณชายแดน นักระบาดต้องไปทุกที่ แต่อุปสรรคคือ ค่าตอบแทนน้อยมาก ซึ่งในส่วนเงินเดือนยังพอเข้าใจ เพราะเป็นระดับของข้าราชการ แต่ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัยแทบไม่มี อย่างค่าเบี้ยเลี้ยงต่อวันได้เพียง 240 บาท ค่าเสี่ยงภัยจะได้เฉพาะกรณีการตรวจโรคอีโบลา และได้ในลักษณะเหมารวม 8 ชั่วโมงแค่ 3,000 บาท ซึ่งหากไม่ใช่โรคนี้ก็ไม่มี

แพทย์ในโรงพยาบาลที่ออกตรวจคนไข้ทั่วไปจะมีค่าอยู่เวร แต่พวกเราไม่มี ส่วนเงินเบี้ยเลี้ยง 240 บาทต่อวัน ก็ไม่เพียงพอเลย อยากให้มีการพิจารณาปรับอัตราดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาค่าเวรให้เราเหมือนแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งจะได้ประมาณ 1,600 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ส่วนการเลื่อนตำแหน่ง ตรงนี้ยังพอเข้าใจว่า อาจไม่ได้ทุกคน เนื่องจากตำแหน่งข้าราชการมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเราจะต้องการงานแลกเงิน แต่ต้องยอมรับว่า เด็กใหม่ๆ ไม่มีใครอยากมาศึกษาต่อ เพราะส่วนหนึ่งคือปัญหาค่าตอบแทน หากมีการปรับเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ ก็น่าจะดึงเด็กจบใหม่ให้หันมาเรียนด้านนี้ด้วย” พญ.ดารินทร์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น