xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทางก้าวหน้า “พยาบาลระดับสูง” กว่าหมื่นตำแหน่ง สกัดลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พยาบาลมีเฮ! สธ. เตรียมเสนอ ก.พ. ขอตำแหน่งเพิ่มความก้าวหน้าทั้งด้านบริหาร บริการ และวิชาการ เป็นระดับเชี่ยวชาญ 321 ตำแหน่ง และชำนาญการพิเศษ 11,061 ตำแหน่ง ในปี 2558 หวังเพิ่มขวัญและกำลังใจ ลดปัญหาสมองไหล

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนและทำงานหนัก ขณะที่ความเจ็บป่วยและความต้องการในการดูแลสุขภาพประชาชนมีมากขึ้น โดยพยาบาล 1 คน ทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมง สูงกว่าข้าราชการกลุ่มอื่นที่ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง โดยเฉพาะพยาบาลที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ต้องทำงานวันละ 2 ผลัดรวม 16 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้พยาบาลกลุ่มนี้มีความคิดโอนย้ายและลาออกมากที่สุด ที่สำคัญคือ ความก้าวหน้าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับข้าราชการในสายงานอื่น ในการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ในระบบนั้น สธ. จึงได้ดำเนินการทบทวนทั้งระบบค่าตอบแทน และการเพิ่มความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพ โดยปี 2558 ได้เตรียมการขอกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นให้แก่พยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานทั้งด้านบริหาร บริการ และวิชาการ เป็นระดับเชี่ยวชาญ รวม 321 ตำแหน่ง และชำนาญการพิเศษ 11,061 ตำแหน่ง

“ขณะนี้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สธ. ได้อนุมัติในหลักการแล้ว ส่วนขั้นตอนต่อไป สธ. จะเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของพยาบาลวิชาชีพ” รองปลัด สธ. กล่าว

ด้าน ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กล่าวว่า สำนักการพยาบาล ได้จัดประชุมคณะกรรมการจากทุกกรมใน สธ. และนำผู้แทนจาก ก.พ. ศึกษาวิเคราะห์ในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้นในสายงานพยาบาล 2 ระดับ คือระดับเชี่ยวชาญและระดับชำนาญการพิเศษ ได้ข้อสรุปว่า ในระดับเชี่ยวชาญ จะกำหนดให้กับ 1. หัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 150 เตียง และอัตราครองเตียงร้อยละ 80 จากเดิมที่มีเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 300 เตียง ที่มีอัตราครองเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 2. พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญ ด้านบริการพยาบาล ใน รพศ. และ รพท. จากเดิมมี 5 ด้าน คือ ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยวิสัญญี ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และผู้คลอด จะเพิ่มอีก 8 ด้าน ได้แก่ อายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม สูติกรรม จิตเวช ศัลยกรรมกระดูก การพยาบาลในชุมชน และการพยาบาลโรคติดเชื้อ 3. พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญด้านวิชาการพยาบาล ใน รพ. ที่เป็นสถาบันร่วมผลิตพยาบาลหรือฝึกอบรมเฉพาะทางหลักสูตร 4 เดือนขึ้นไปของโรงพยาบาลใหญ่

ดร.กาญจนา กล่าวว่า สำหรับระดับชำนาญการพิเศษ ได้เพิ่มให้หัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลที่จำนวนเตียงน้อยกว่า 150 เตียง และอัตราการครองเตียงน้อยกว่าร้อยละ 80 หัวหน้ากลุ่มงาน/หัวหน้างาน ที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาตามเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนด คือ 1 ต่อ 4 หรือวิชาชีพกำหนด และกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ให้แก่หัวหน้าหอผู้ป่วย หัวหน้าทีมการพยาบาล และผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยให้พยาบาลวิชาชีพมีขวัญกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น