xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตชุด นร.มอก.โอด! นโยบายเรียนฟรี ทำขาดทุนเจ๊งไปกว่าครึ่ง วอน ศธ.ทบทวน-ปรับราคาชุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างชุด นร.ของผู้ผลิตตามมาตรฐาน มอก.
กลุ่มผู้ผลิตชุด นร.มอก. ยื่นหนังสือ “สุรเชษฐ์” และ สพฐ. ทบทวนโครงการเรียนฟรี รายการชุด นร. เปิดทางให้ ร.ร. เป็นตัวกลางจัดซื้อ และปรับราคาชุด นร. อ้างผู้ปกครองที่อยู่ห่างไกลตัดปัญหาไม่ซื้อ เพราะไม่อยากควักค่าเดินทางเพิ่ม โอดร้องเรียนมา 5 ปี ไม่มีอะไรคืบ แถมขาดทุนเฉลี่ย 80% ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวไปแล้วกว่าครึ่งนึงของกลุ่มสมาชิก 45 ราย ลั่นรอบนี้ไม่รอให้เวลาสองสัปดาห์จะมาเอาคำตอบ

วันนี้ (27 พ.ย.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางวันรวีร์ พูลส์ศิริกุล ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตชุดนักเรียนมาตรฐานและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในฐานะประธานสภาแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเสรีนครพนม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตชุดนักเรียน มอก. 4 ราย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขอให้มีการทบทวนโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะรายการค่าเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งระบุแนวทางการจัดซื้อเครื่องแบบนักเรียน/ชุดนักเรียน ไว้ว่ารัฐจะจัดสรรเงินสดให้ผู้ปกครองและนักเรียนจะดำเนินการจัดซื้อด้วยตนเอง แต่ความจริงคือผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ได้นำเงินที่ได้รับไปซื้อชุดนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่รู้จะไปซื้อชุดนักเรียนที่ไหน เพราะถ้าต้องเดินทางมาซื้อในเมืองก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกสุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ซื้อชุดนักเรียน จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้ขายไม่มีที่ขายและผู้ซื้อไม่มีที่ซื้อ และกลายเป็นว่าเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง
นางวันรวีร์ พูลส์ศิริกุล
นางวันรวีร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวก็ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ผลิตชุดนักเรียน มอก. ที่มีอยู่ 45 รายทั่วประเทศ ขาดรายได้ และมียอดขายตกลงจำนวนมากเฉลี่ย 80% และทยอยปิดกิจการไปแล้ว 11 ราย ดังนั้น พวกตนจึงอยากให้ ศธ. ได้มีการทบทวนเรื่องเหล่านี้ และอยากให้ปรับนโยบายใหม่โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดซื้อจัดหาชุดนักเรียนเอง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลถ้าใช้แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อผู้ปกครองและผู้ประกอบ ทั้งยังช่วยลดภาระให้แก่ผู้ปกครองไม่ต้องควักเงินเพิ่มในการเดินทางมาซื้อชุดนักเรียนในเมืองด้วย ขณะเดียวกัน พวกตนยังเสนอขอให้มีการปรับราคาชุดนักเรียนจากเดิม ชุดนักเรียนก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ราคา 150 บาท เป็น 250 บาท ประถมศึกษา ราคา 180 บาท เป็น 250 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น ราคา 225 บาท เป็น 350 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย ราคา 250 บาท เป็น 400 บาท

นับแต่เมื่อปี 2552 มีนโยบายเรียนฟรีเกิดขึ้น โดยแจกเงินให้ผู้ปกครองไปซื้อชุดเอง แต่ในทางปฏิบัติผู้ปกครองบางรายก็ไม่ได้นำเงินไปซื้อจริง บางรายใช้วิธีซื้อใบเสร็จจากแล้วนำมาเบิกเงินค่าชุดที่โรงเรียนโดยที่ สพฐ. โรงเรียน และ สพฐ. ไม่เคยมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเลย เท่ากับว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของงบประมาณ ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลทบทวนด้วยว่าโครงการนี้เป็นนโยบายประชานิยมเกินไปหรือไม่ และที่ออกมาเรียกร้องเพราะได้รับกระทบอย่างมาก เราต้องแบกรับต้นทุนการผลิตเรามีลูกน้องต้องดูแลและเราเรียกร้องมาทุกปีเป็นเวลา 5 ปี แล้วมีแต่คนรับปากจะดูแลแต่ไม่เคยมีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นครั้งนี้เราจะรอคำตอบจาก ศธ. และ สพฐ. แค่สองอาทิตย์ หากยังไม่มีคำสั่งดำเนินการเรื่องให้พวกเราก็จะกลับมาทวงถามอีกครั้ง”  นางวันรวีร์ กล่าว 

อนึ่ง ราคาชุดนักเรียนที่รัฐจัดสรรให้ในโครงการเรียนฟรีฯ จำนวน 2 ชุดต่อปี ในราคาก่อนประถมศึกษา 300 บาท/คน ประถมศึกษา 360 บาท/คน มัธยมศึกษาตอนต้น 450 บาท/คน • มัธยมศึกษาตอนปลาย 500 บาท/คน และ อาชีวศึกษา 1,000 บาท/คน
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น