xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย! “อาหารกึ่งสำเร็จ” เค็มสุดๆ ใส่โซเดียมเกินพิกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! อาหารกึ่งสำเร็จรูปเกิน 80% ใส่โซเดียมอื้อ เกินปริมาณ 600 มิลลิกรัม ที่ควรรับในแต่ละมื้อ บางรายการพุ่งสูงเกินกว่า 3 เท่า ขณะที่ขนมขบเคี้ยว 48.6% เกินกว่า 100 มิลลิกรัมของอาหารว่างที่ควรบริโภค เผย รสบาร์บีคิว - พิซซ่า เค็มสุด ส่วนกลุ่มขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ ค่าโซเดียมเหมาะสม ด้าน อย. เตรียมออกประกาศกลุ่มอาหารเค็มสูงเป็นแอปพลิเคชันช่วยตรวจสอบก่อนซื้อ

นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมผ่านการอ่านฉลาก กล่าวว่า ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในอาหารนั้น ตามคำแนะนำของนักโภชนาการระบุว่า ในอาหาร 1 มื้อไม่ควรมีปริมาณโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม ส่วนอาหารว่างไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม แต่จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที ในโครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม โดยสำรวจจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 9 แห่งใน กทม.และปริมณฑล ช่วง พ.ย. 2556 - ก.พ. 2557 เพื่อสำรวจสถานการณ์การแสดงฉลากโภชนาการ การกล่าวอ้างทางโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที 23 ประเภท จำนวน 5,853 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 3,052 ผลิตภัณฑ์และนำเข้าจากต่างประเทศ 2,801 ผลิตภัณฑ์ พบว่า มีการแสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ 3,230 ผลิตภัณฑ์ โดยร้อยละ 58.7 มีปริมาณโซเดียมที่แสดงบนฉลากโภชนาการอยู่ในช่วง 0-100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เกินค่าที่นักโภชนาการแนะนำ พบในกลุ่มขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์มากที่สุด

นายอารยะ กล่าวว่า กลุ่มขนมขบเคี้ยว ร้อยละ 48.6 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มิลลิกรัมที่เป็นค่าแนะนำ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมเกินความเหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปรุงรสทรงเครื่อง รสบาร์บีคิว และรสพิซซ่า ส่วนกลุ่มเครื่องดื่ม ร้อยละ 19.3 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มิลลิกรัม เกินค่าแนะนำ และกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 83.2 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 600 มิลลิกรัมซึ่งเกินค่าแนะนำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำ ตรามาม่า มีปริมาณโซเดียม 2,220 มิลลิกรัมหรือ 55 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สูงกว่าค่าแนะนำถึง 3 เท่า

“จากการสำรวจนี้เป็นฐานข้อมูลระดับประเทศที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มสามารถนำไปใช้ในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การปรับลดความเค็มในอาหาร ทั้งนี้ คาดว่าในเร็วๆ นี้ อย. จะออกประกาศเรื่องกลุ่มอาหารที่มีความเค็มสูงเพิ่มเติม โดยเพิ่มในส่วนของกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกลุ่มขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้ จะมีการนำข้อมูลปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาจัดทำเป็นแอปพลิเคชันใช้งานบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะซื้อมีปริมาณโซเดียมเท่าไหร่ จะได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจว่าควรริโภคหรือไม่” นายอารยะ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น