xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นหวัดนกแพร่ฮอลแลนด์ สธ.สั่งคุมเข้มหน้าหนาว จับตาด่านชายแดน-พื้นที่เคยระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. ตื่นหวัดนกแพร่ในฮอลแลนด์ สั่งคุมเข้มตลอดฤดูหนาว เสี่ยงเชื้อแพร่ระบาดจากนกที่อพยพ จับตาพื้นที่เคยมีการระบาดและแนวชายแดน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา ย้ำ ห้ามนำสัตว์ปีกป่วยตายชำแหละ มีไข้คล้ายหวัดใหญ่หลังสัมผัสสัตว์ปีก รีบพบแพทย์

วันนี้ (18 พ.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีพบไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N8 ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. จนมีการทำลายไก่ 150,000 ตัว และห้ามขนย้ายสัตว์ปีก รวมทั้งไข่และมูลสัตว์ปีก เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N8 มาก่อน เคยพบแต่ H5N1 ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้ออีกก็ตาม แต่ช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศหนาวเย็นและเริ่มมีนกอพยพหนีสภาพอากาศหนาวจากต่างประเทศมาอยู่ที่ประเทศไทย อาจนำเชื้อมาแพร่ได้ ถือว่ายังมีความเสี่ยงต่อการระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 เพราะยังพบผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง จุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือตามแนวชายแดน ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้มอบให้กรมควบคุมโรค (คร.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นหนักจังหวัดที่เคยพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อไข้หวัดนก และจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ไทย - ลาว และไทย - พม่า โดยให้ดำเนินการเฝ้าระวังทั้งในชุมชน และในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถตรวจจับโรคได้อย่างรวดเร็ว หากพบผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัยให้สอบสวนโรค ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกทุกราย และเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ส่วนในสัตว์ปีกให้ อสม. ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเฝ้าระวังการป่วย ตายผิดปกติในสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านเรือนและธรรมชาติ หากพบให้เก็บซากสัตว์ปีกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันทีและแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลกจนถึงปัจจุบันพบว่า มีเชื้อไข้หวัดนกที่สามารถแพร่เชื้อมายังคนได้ 7 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ H5N1 H5N2 H10N8 H7N5 H7N7 H7N9 และ H5N8 โดยสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดคือสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งยังพบในประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยยืนยัน ตั้งแต่ปี 2546 - 2557 มีทั้งหมด 668 ราย เสียชีวิต 393 ราย ใน 16 ประเทศ เฉพาะในปี 2557 มีรายงานป่วย 19 ราย เสียชีวิต 8 ราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือประชาชนห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังมีอาการป่วยมาชำแหละ เพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน เพราะหากมีการติดเชื้อไข้หวัดนก ผู้ชำแหละจะติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งได้

ทั้งนี้ หากพบสัตว์ปีกเสียชีวิตผิดปกติขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกให้สวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกและล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก หากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรปรึกษาสายด่วนของกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น