xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น “แอนติบอดีศิริราช” ทดสอบเชื้อ “อีโบลา” จริงสหรัฐฯ สำเร็จใช้รักษาทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิริราชเตรียมส่งทีมวิจัยพร้อมแอนติบอดีรักษา “อีโบลา” เหินฟ้าไปทดสอบกับเชื้อไวรัสของจริงที่ห้องแล็บสหรัฐฯ 18 พ.ย.นี้ ลุ้นผล 2 สัปดาห์รักษาได้จริงหรือไม่ คณบดีศิริราชมั่นใจรักษาได้แน่ ชี้หากสำเร็จพร้อมนำไปใช้ในคนป่วยจริงที่แอฟริกา
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (แฟ้มภาพ)
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังผลิตแอนติบอดีในการรักษาโรคอีโบลาได้ จากเชื้ออีโบลาที่จำลองขึ้นซึ่งมีลำดับยีนเหมือนไวรัสต้นฉบับ จนได้รับความสนใจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ยังคงต้องวิจัยต่อในสัตว์และมนุษย์ ว่าปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการจำนวนมากทั่วโลกที่แข่งขันกันเพื่อหาวิธีหยุดยั้งอีโบลา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ศิริราชประกาศว่าสามารถผลิตแอนติบอดีเพื่อหยุดเชื้อไวรัสอีโบลาได้ ยังไม่มีห้องปฏิบัติการหรือคณะนักวิจัยใดโต้แย้งวิธีที่ศิริราชสามารถทำได้ หมายความว่า เทคนิคการทำลักษณะนี้ ไม่มีข้อคัดค้านแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากที่ WHO ให้ความสนใจก็ได้เชิญคณะแพทย์ผู้ทำการวิจัยไปร่วมทดลองในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (BSL4) ที่สหรัฐอเมริกา โดยนำแอนติบอดีที่ผลิตขึ้นได้ไปทดลองกับเชื้อไวรัสอีโบลาเชื้อจริง เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถรักษาได้จริงหรือไม่

ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าวอีกว่า การเดินทางไปทดลองในครั้งนี้ นำทีมโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา ศ.ดร.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และนักวิจัย ร่วมเดินทางไปด้วยกัน โดยจะเดินทางไปวันที่ 18 พ.ย. คาดว่าจะใช้เวลาทดลองประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะทราบผลว่าเป็นอย่างไร แต่คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะรักษาได้ ซึ่งเบื้องต้นได้รับการประสานว่า หากแอนติบอดีของศิริราชเมื่อนำไปทดสอบกับไวรัสจริงสำเร็จ WHO จะขอนำไปใช้กับผู้ป่วยจริงในพื้นที่การระบาดที่แอฟริกาเลย เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตทุกวัน หากสามารถทำได้สำเร็จ การขยายแอนติบอดีก็อาจจะใช้เทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกา ขยายแอนติบอดี ให้เพียงพอในการใช้กับผู้ป่วยจริง ส่วนเรื่องสิทธิบัตรก็เป็นเรื่องที่จะตกลงกันต่อไป

แอนติบอดีสร้างขึ้นโดยใช้แบคทีเรียช่วยสร้างและทดสอบกับเชื้อไวรัสที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการซึ่งมีลำดับยีนเหมือนไวรัสต้นฉบับ แต่อีโบลามีหลายสายพันธุ์ ต้นฉบับแอนติบอดีที่ทำไปในครั้งนี้ จึงเป็นแบบผสม 5 สายพันธุ์ หรือ 5 โคลน เพื่อป้องกันการแปรสายพันธุ์ เพราะไวรัสสามารถแปรสายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ตัวแอนติบอดีที่เตรียมไปจะเป็นตัวที่สามารถป้องกันได้หลายสายพันธุ์ ที่ผ่านมาได้ทดสอบกับเชื้ออีโบลาที่ผลิตขึ้นหลายครั้งจนมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง แต่การทดลองที่สหรัฐฯครั้งนี้ เป็นการทดลองกับยีนอีโบลาจริง ซึ่งคาดหวังว่าจะประสบผลสำเร็จ เพื่อสามารถนำไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ระบาดได้” ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น