สปสช. โอนเงินบัตรทองไตรมาสปี 58 จำนวน 12,848 ล้านบาท ให้รพ. สังกัด สธ. 884 แห่งแล้ว 24 ต.ค. เผยผลเจรจาแนวทางจัดสรรงบได้ข้อสรุปและหลักการร่วม เน้นกระจายอำนาจ จัดการระดับพื้นที่ โอนเงินตรง รพ. ไม่ไปที่ สธ. หรือเขตสุขภาพ สธ. เตรียมจะยกร่างข้อเสนอใหม่ตามหลักการที่หารือเข้าสู่คณะอนุฯการเงินการคลัง นัดหารือต่อ 30 ต.ค.
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 ไตรมาสแรก ซึ่งใช้หลักเกณฑ์เช่นปี 2557 ตามมติบอร์ด สปสช. นั้น ขณะนี้ สปสช. ได้โอนงบประมาณดังกล่าวจำนวน 12,848 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นหน่วยบริการคู่สัญญาระดับปฐมภูมิ หรือ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แล้วจำนวน 884 แห่ง เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้ตัวเลขประมาณการจากรายรับจัดสรรล่วงหน้าที่หน่วยบริการสาธารณสุขได้รับจัดสรรจากปีงบประมาณ 2556 แทน เนื่องจากข้อมูลปี 2557 มีปัญหาเรื่องการหักเงินเดือนบุคลากร สธ.ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการหารือเรื่องหลักการแนวทางการบริหารกองทุน สธ. และ สปสช. ได้หารือมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการหารือยึดตามประเด็น 3 ข้อที่ สธ. เสนอ และมีข้อสรุปร่วมกันซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกัน ดังนี้ 1. ข้อเสนอการดำเนินการรูปแบบเขตสุขภาพนั้น มีข้อสรุปว่าการหารือครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อรื้อการจัดการงบประมาณปี 2558 แต่เป็นการปรับเพื่อต่อยอดให้เหมาะสมขึ้น และเป็นการพูดคุยในส่วนของงบประมาณที่จัดสรรให้ สธ. เท่านั้น โดยหลักการสำคัญเหมือนเดิม คือ จัดสรรเงินตรงไปที่หน่วยบริการ เน้นการกระจายอำนาจ และการจัดการในระดับพื้นที่มากที่สุด ส่วนข้อตกลงใดๆ ต้องเป็นการตกลงก่อนการจัดสรรเงิน และจะไม่มีการโอนเงินไปไว้ที่ สธ. หรือเขตสุขภาพของ สธ.
“การจัดสรรจะใช้หลักการคำนวณใกล้เคียงกับผลงานและจ่ายขาดโดยไม่มีการเรียกเงินคืน เงินที่เหลือหรือขาดจะใช้หลักการหักลบกลบหนี้กันในปีต่อไป และการทำข้อตกลงระดับกระทรวงหรือระดับเขต จะเน้นการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน ทั้งด้านกระบวนการและผลลัพธ์ และมีมาตรการรองรับหากทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตกลงไว้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.วินัย กล่าวว่า 2. รูปแบบการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัว เห็นชอบว่ามีความจำเป็นจะต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการจัดสรรงบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน และงบบริการเฉพาะ โดยงบบริการเฉพาะจะให้ความสำคัญว่าประเด็นใดควรแยกดำเนินการในระดับใด และให้สอดคล้องกับเขตสุขภาพของ สธ. และกลุ่มเป้าหมายของ สปสช. ส่วนการทำข้อเสนอรูปแบบการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น มอบหมายให้ สธ. และ สปสช. ทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอดังกล่าว และเห็นชอบร่วมกันถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยให้มีการทำข้อเสนอ เป้าหมาย กลไก โดยขอความเห็นชอบจาก นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา บอร์ด สปสช. และ 3. ข้อเสนอการตัดเงินเดือนของ สธ. นั้น เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่ทำให้เงื่อนไขข้อเสนอ 2 ข้อข้างต้นไม่สามารถดำเนินการได้ จึงขอให้ใช้ข้อตกลงที่ได้ผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังแล้วเป็นหลัก
“ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น เมื่อได้ข้อสรุปร่วมตามหลักการข้างต้นแล้ว ทาง สธ. จะประชุมภายในเพื่อยกร่างจัดทำข้อเสนอใหม่ หลังจากนั้น จะนัดหมายเพื่อนำเสนอร่างข้อเสนอใหม่กับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหาร สธ. และ สปสช. ประธานการเงินการคลังเขตบริการสุขภาพของ สธ. และ สปสช. เขต ก่อนจะมีการนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังในต้นเดือน พ.ย. และเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. ในวันที่ 10 พ.ย. ต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ในวันที่ 30 ต.ค. จะมีการหารืออีกครั้งระหว่าง สธ. และ สปสช.
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่