xs
xsm
sm
md
lg

“รัชตะ” ชี้ข้อขัดแย้ง สธ.-ตระกูล ส.ให้คุยหลักฐานเชิงประจักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอรัชตะ” ย้ำไม่ถือธงอยู่ข้างใด ข้อขัดแย้ง สธ.- องค์กรตระกูล ส. เป็นเรื่องธรรมดา แนะพูดคุยด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านปลัด สธ. ชี้ต้องเดินหน้า 3 เรื่องช่วงยุครัฐบาล คสช. ทั้งธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เขตสุขภาพ และกลไกการใช้งบสาธารณสุข

วันนี้ (20 ต.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมงานประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 ถึงกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ สธ. และองค์กรตระกูล ส. ว่า ความจริงองค์กรที่เรียกว่าตระกูล ส. ก็เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สธ. ซึ่งการทำงานมีการประสานงานคู่ขนาน ทำงานใกล้ชิดกันอยู่แล้ว และในเวทีครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา เน้นการพูดคุยด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเท่านั้น

ผมไม่ได้เข้ามาโดยถือธงว่าจะอยู่ข้างใด เข้ามาทำงานเพื่อประชาชน กรณีที่มีความคิดเห็นแตกต่างเกิดขึ้นต้องนำหลักฐานเชิงประจักษ์และหาทางออกร่วมกัน เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วก็สามารถปรับได้อีก เพราะระบบสาธารณสุขเป็นเรื่องซับซ้อนสูง อยากเห็นความสามัคคี สมานฉันท์ ผมบริหารด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงต้องนำข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์มาพูดคุย หารือร่วมกัน ส่วนเรื่องค่าตอบแทนบุคลากร ในเรื่องค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) จะต้องหารือกับปลัด สธ. ก่อน” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. อภิปรายแนวทางบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบาย คสช. นโยบายรัฐบาล และนโยบาย รมว.- รมช.สาธารณสุข ว่า ในมุมมองของข้าราชการประจำเห็นว่า 3 สิ่งที่รัฐบาลยุค คสช. สามารถเดินหน้าทำทันที อย่างรวดเร็ว และจริงจัง ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งมีเวลาประมาณ 1 ปี คือ 1. การสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมา สธ. มีการจัดตั้งประชาคมสาธารณสุข เพื่อปกป้อง สธ. ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ที่สำคัญคือจะต้องปัดกวาดบ้าน สธ.เราไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเตรียมออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ การสร้างกลไก อสม.และเครือข่ายพยาบาลเพื่อป้องกันและต่อต้านทุจริตใน สธ. การทำ Better Service เพื่อให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ไม่มีการโกงเวลาราชการ รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องเป็นธรรม

ที่สำคัญต้องตรวจสอบการใช้งบสาธารณสุข 2 แสนล้านบาท ที่เป็นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1 แสนล้านบาท และ สธ. 8 หมื่นล้านบาท ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมตรวจสอบ เพื่อให้การใช้เม็ดเงินเป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อประชาชนจริงๆ ใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะประชาชนต้องรับรู้การใช้งบประมาณดังกล่าว” ปลัด สธ.กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า 2. ปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการเดินหน้าเขตสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างกลไกบริการสุขภาพในระดับเขต ถือเป็นหัวใจและคำตอบของระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ สธ.ควรจะเล็กลงทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานกำกับนโยบายสาธารณสุขของประเทศ ส่วนหน่วยบริการต้องรวมตัวกันเป็นเขตบริการสุขภาพประชาชน เป็นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ จัดการทรัพยากรร่วมกัน เกิดความเท่าเทียมในระดับเขต เพราะเขตสุขภาพใกล้ชิดประชาชนมากกว่าส่วนกลาง หรือ สธ.หรือ สปสช.

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า และ 3. กลไกการใช้งบประมาณสาธารณสุขจะต้องมีการประเมินการใช้งบประมาณและประชาชนได้รับบริการที่ดี แต่ขณะนี้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง 2 แนว คือ การใช้เงินนำระบบบริการ คือจัดบริการแล้วไปรับเงิน และ 2.แนวคิดใช้การให้บริการนำการเงิน โดยให้มีการจัดบริการแล้วระบบการเงินเข้าไปหนุนเสริม เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่คนใน สธ. ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามแนวคิดใด และในการเจรจาร่วมระหว่าง สธ. และ สปสช. ในเรื่องการเงินการคลังต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจที่จะร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม สธ. ไม่เคยมีความคิดที่จะนำเงินเข้ามาไว้ที่ สธ. แต่ให้ไปจัดสรรผ่านเขตสุขภาพประชาชน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น