xs
xsm
sm
md
lg

อ้วนในช่วงวัยรุ่น จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้เมื่ออายุมากขึ้น/ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ในแต่ละปีจะพบผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย และสูงมาต่อเนื่องเป็นเวลา 13 ปี นับจากปี 2543 จากข้อมูลของสถาบันมะเร็ง พบว่า มะเร็งที่พบมากทั้งในเพศชายและเพศหญิงซึ่งอยู่ใน 3 อันดับแรกของมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย คือ มะเร็งลำไส้ จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2553 พบว่า ในประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มักมีความสัมพันธ์ต่อ อายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า 50 ปี ชอบรับประทานอาหารปิ้งย่าง อาหารหมักดอง รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ออกกำลังกายน้อย และมีความเครียดสูง แต่จากการศึกษาวิจัยล่าสุดในประเทศสวีเดนพบอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้คือการที่มีภาวะอ้วนในช่วงวัยรุ่น การศึกษาได้ติดตามวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 15-20 ปี ซึ่งมีภาวะอ้วนและติดตามผลเป็นเวลา 35 ปีต่อเนื่อง พบว่าวัยรุ่นที่อ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้มากกว่าวัยรุ่นที่มีน้ำหนักปกติถึง 2.37 เท่า สำหรับประเทศไทยพบวัยรุ่นไทยที่มีปัญหาของโรคอ้วนได้มากกว่าร้อยละ 30 โดยพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความอ้วนในวัยรุ่น เช่น อาหารที่มีพลังงานสูง อาหารสำเร็จรูป อาหารทอด อาหารในกลุ่มขนมหวานและเบเกอรี่ น้ำหวาน เครื่องดื่มผสมน้ำตาลสูง การขาดการออกกำลังกายและกิจวัตรประจำวันที่ต้องนั่งเรียนรวมถึงนั่งทำการบ้าน นั่งดูทีวี นั่งเล่นเกม หรือคอมพิวเตอร์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
แนวทางการบริโภคอาหารสำหรับวัยรุ่น
พยายามรับประทานอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทุกเช้า เนื่องจากวัยรุ่นมักมีตารางเรียนที่หนักและเวลานอนน้อยทำให้บางคนไม่รับประทานอาหารเช้า หรือเลือกรับประทานอาหารเช้าเพียงเล็กน้อย จากการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่ได้อาหารเช้าที่ครบถ้วนนั่นคือได้รับสารอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุ จะทำให้มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติมากกว่าวัยรุ่นที่ไม่รับประทานอาหารเช้าหรือรับประทานอาหารเช้าไม่ครบถ้วน หากมีเวลาน้อยก็อาจเลือกเป็นโยเกิร์ตผสมซีเรียล โจ๊กใส่ไข่และผัก แซนวิชทูน่าใส่ผัก เป็นต้น
ลดหรือเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม แทนที่ด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสมุนไพรที่ไม่เติมน้ำตาล
เตรียมผลไม้ที่ทานง่ายไว้เสมอ เตรียมผลไม้สดเช่น ส้ม แอปเปิล กล้วย ไว้ในครัวหรือติดตัวเผื่อหิวจะได้รับประทานแทนที่อาหารสำเร็จรูปซึ่งมีพลังงานสูงกว่า และช่วยลดความอยากอาหารประเภทหวาน มัน เค็มลงได้
เน้นการรับประทานอาหารที่โต๊ะอาหารเท่านั้น วัยรุ่นชอบรับประทานอาหารที่โต๊ะเรียน โต๊ะทำงาน ห้องนอน และมักที่จะรับประทานไปพร้อมกับทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วยเช่น ทำงานไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วยหรือนั่งเล่นเกมส์ไปด้วยซึ่งทำให้รับประทานอาหารหรือขนมมากเกินไป
พยายามให้มีเมนูผักในทุกมื้ออาหารหรืออย่างน้อย 2 มื้อหลัก ผักเป็นกลุ่มอาหารที่ให้พลังงานต่ำและให้ใยอาหารสูงทำให้อิ่มนานและช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
เมื่อรับประทานอาหารได้ถูกต้องแล้ว ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหากมีเวลาน้อยก็ควรเดินในขณะที่อยู่โรงเรียนแทนที่จะนั่งมากกว่า การพักผ่อนนอนหลับควรนอนให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมงเพราะการนอนน้อยจะส่งผลให้หิวและระบบเผาผลาญพลังงานทำได้ไม่ดี

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น