คาดร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญ มีผลปีหน้า ด้านประธานราชวิทยาลัยสูติฯ ระบุไม่ปิดกั้นกรณีเพศที่ 3 อยากมีส่วนร่วมอุ้มบุญ แต่ต้องชะลอไว้ก่อน
วันนี้ (2 ต.ค.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อขับเคลื่อนระบบงานด้านการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (อุ้มบุญ) เพื่อเปิดจัดระบบงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการอุ้มบุญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า วันนี้เป็นการประชุมความคืบหน้าถึงการแก้ไขปัญหา โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา ก.สาธารณสุข (สธ.) ผู้แทนอัยการ ก.การต่างประเทศ (กต.) มาพูดคุยในการติดตามองค์ประกอบเรื่องอุ้มบุญ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย ด้านสังคม แม่อุ้มบุญ รวมทั้งตัวเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.... อยู่ระหว่างขั้นตอนกฤษฎีกา เพื่อเข้าสู่ สนช. ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถบังคับใช้ได้ในปีหน้า
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเด็กอุ้มบุญที่อยู่ในความดูแลของ พม. ทั้ง 13 คน ขณะนี้ได้ดูแลเป็นอย่างดี และยังได้มอบหมายให้ พม.เป็นเจ้าภาพ เพื่อพิจารณาร่วมกับแพทยสภา ทั้งในด้านจิตวิทยา กฎหมาย และสังคม ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน นอกจากนี้ ได้ให้แพทยสภาตรวจสอบคลีนิกที่รับอุ้มบุญ ที่มีอยู่ 42 แห่ง เพื่อขึ้นทะเบียน และเพิ่มมาตรฐานการกำกับแพทย์เชิงจริยธรรม ซึ่งการอุ้มบุญนั้นจะต้องไม่เป็นในเชิงพาณิชย์ โดยหากมีการฝ่าฝืนจะมีมาตรการของแพทยสภาในการจัดการ
ด้านศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสภา กล่าวว่า ในระหว่างที่ พ.ร.บ.อุ้มบุญ ยังไม่ได้บังคับใช้ ทางแพทยสภาจะดูแลการแพทย์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ซึ่งเน้นให้เด็กได้รับความคุ้มครอง รวมถึงการป้องปรามเนื่องจากมีความคาบเกี่ยวเรื่องค้ามนุษย์ ส่วนกรณีที่คนหลากหลายทางเพศต้องการมีส่วนร่วมในการอุ้มบุญนั้น ต้องมองว่าสังคมไทย ใช้กฎหมายไทย เรื่องของกลุ่มหลากหลายทางเพศจึงขอชะลอไว้ก่อน เนื่องจากต้องตั้งต้นกฎหมายฉบับนี้ ที่เน้นเรื่องของความเป็นพ่อและแม่ ที่สามารถดูแลเด็กได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กีดกันแต่อย่างใด
นอกจากนี้ พล.ต.อ.อุดลย์ ยังกล่าวถึงกรณีแรงงานประมง 6 คน ที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) ว่า ขณะนี้ พม. ได้รับแรงงานทั้งหมดเข้ามาเยียวยาและช่วยเหลือดูแล โดยหลังจากนี้จะมีการนำผู้เสียหายทั้งหมดไปให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อติดตามดำเนินการด้านคดีความต่อไป โดยนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวง พม. จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการจัดระเบียบเรือประมง และแรงงานประมงเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ณ ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ที่ร่วมดำเนินการบูรณาการกับก.แรงงาน ก.การต่างประเทศ (กต.) และก.สาธารณสุข (สธ.)
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่