xs
xsm
sm
md
lg

พบ “มะนาว” ผสมน้ำอุ่นเช็ดตัวช่วยลดไข้ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พยาบาล รพ.นครพิงค์ วิจัยพบใช้มะนาวผสมน้ำอุ่นเช็ดตัว ช่วยลดไข้ในเด็กได้ดีกว่าการใช้น้ำอุ่นตามปกติ ชี้น้ำมันจากเปลือกมะนาวมีฤทธิ์ทางเคมีช่วยลดไข้ได้ เตรียมศึกษาความต่างมะนาวผิวเหลืองกับผิวเขียว และผู้ป่วยกลุ่มอื่น

น.ส.ชลิดา ภาวนาเกษมศานต์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.นครพิงค์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของการใช้น้ำอุ่นผสมมะนาวในการเช็ดตัวลดไข้ในผู้ป่วย” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 ว่า ในปี 2556 มีผู้ป่วยเด็กเข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม รพ.นครพิงค์ 782 ราย จำนวนนี้มี 2 ราย เกิดอาการชัก เนื่องจากไข้สูง โดยพบว่าปัญหาคือผู้ดูแล ผู้ปกครอง ไม่ให้ความร่วมมือในการเช็ดตัว โดยให้เหตุผลว่าการเช็ดตัวใช้เวลานาน และทำให้ไข้กลับสูงซ้ำ หลังเช็ดตัวไม่นาน จึงได้ทำการทดสอบเพื่อหาวิธีการเช็ดตัวที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในลดไข้ผู้ป่วยเด็ก จึงเลือกใช้มะนาวที่หาได้ง่ายในครัวเรือนไทย และมีงานวิจัยในต่างประเทศว่าฤทธิ์ทางเคมีในน้ำมันจากเปลือกมะนาวช่วยลดไข้ได้

น.ส.ชลิดา กล่าวว่า วิธีการคือ นำมะนาวมากดลงในน้ำอุ่น แล้วผ่าครึ่งซีกก่อนบีบน้ำมะนาวออกมา จากนั้นนำไปเช็ดตัวเพื่อลดไข้ โดยทำการทดลองในผู้ป่วยเด็ก 60 ราย อายุเฉลี่ย 2 ปี ที่มีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ​โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำอุ่นผสมน้ำมะนาว และใช้น้ำอุ่นตามปกติ และใช้ตารางเก็บบันทึกอุณหภูมิอย่างละเอียด​ สำหรับวิธีเช็ดตัวใช้แบบผสมผสานระหว่างการเช็ดตัวพันและห่อเป็นเวลา 15 นาที และการวัดอุณหภูมิร่างกายซ้ำหลังเช็ดตัวลดไข้ 15 นาที และนำข้อมูลการเก็บสถิติมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ซึ่งพบว่ากลุ่มที่เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาวมีอุณหภูมิร่างกายลดลง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.2 ส่วนกลุ่มที่เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นตามปกติมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.67 หมายถึงกลุ่มที่เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาวมีอุณหภูมิร่างกายลดลงมากกว่า

การศึกษาดังกล่าวถือว่าสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดไข้ต่อไป โดยพบข้อเสนอจากการวิจัยว่า​ ต้องมีการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป​ เพื่อนำผลการวิจัยมาเป็นทางเลือกในการให้การพยาบาลเพื่อลดไข้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กอื่นๆ และจะมีการศึกษาประสิทธิผลในการใช้น้ำอุ่นผสมมะนาวเช็ดตัวลดไข้ต่อระยะเวลาที่ร่างกายมีอุณหภูมิขึ้นสูงอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังต้องมีการศึกษาถึงประสิทธิผล ระหว่างมะนาวผิวสีเหลือง และผิวสีเขียว เพื่อหาว่ามีประสิทธิภาพในการลดไข้แตกต่างกันหรือไม่​ต่อไปด้วย” น.ส.ชลิดา กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น