สปสช. ปลื้ม! เดินหน้าบูรณาการดูแลผู้ป่วยไต 3 กองทุน 2 ปีประสบผลสำเร็จ ชี้ช่วยป่วยไตเข้าถึงการรักษา แถมดูแลต่อเนื่องไม่สะดุดระหว่างเปลี่ยนสิทธิ์รักษาพยาบาล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วยเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการบริหารจัดการระบบการรักษาพยาบาลร่วมกัน 3 กองทุนตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การบริหารคณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกันและมีความก้าวหน้าของการบูรณาการสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และการบำบัดทดแทนไตเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ในการบูรณาการ ซึ่งมีหลักดำเนินการ 3 ด้าน คือ 1. การใช้เกณฑ์และมาตรฐานเดียวกัน 2. การเปลี่ยนสิทธิโดยไม่กระทบการรักษา และ 3. การบริหารข้อมูลร่วมกัน และได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555เป็นต้นมา ว่า ในการดำเนินเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันนั้น ผู้ป่วยทุกรายทุกสิทธิ์จะเข้าถึงการรักษาด้วยเกณฑ์การดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตามเกณฑ์ที่ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยกำหนดในการวินิจฉัยให้สิทธิบำบัดทดแทนไต รวมไปถึงการจัดการที่ใช้มาตรฐานเดียวกันในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการและการตรวจสอบ อาทิ การใช้เกณฑ์ของคณะอนุกรรมการการตรวจรับรองมาตรฐานการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการและความถูกต้องในการจ่ายชดเชยในการให้บริการผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมร่วมกัน
นพ.วินัย กล่าวว่า นอกจากการดำเนินการข้างต้นซึ่งทำให้ผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุนได้รับบริการมาตรฐานที่เท่าเทียมกันแล้ว จุดเด่นของการบูรณาการสิทธิบำบัดทดแทนไตคือทำให้ผู้ป่วยทุกรายทุกสิทธิ์ได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยวิธีการรักษาแบบเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนโอนย้ายสิทธิการรักษาก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกไตด้วยเครื่อง และการรับยากดภูมิกรณีเปลี่ยนไต โดยผู้ป่วยไตจะได้รับสิทธิการรักษาเดิมภายใต้ระบบกองทุนที่ย้ายเข้าไปใหม่ทันที ขณะเดียวกันหน่วยบริการจะได้รับการชดเชยค่าบริการตามระเบียบของกองทุนผู้ป่วยย้ายเข้าใหม่เช่นกัน
สำหรับข้อมูลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้าใหม่เฉพาะในปีงบประมาณ 2557 ระหว่างเดือนตุลาคม2556 - พฤษภาคม 2557 มีผู้ป่วยไตวายเรื้องรังเข้าใหม่จำนวน 6,143 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไต 4,420 ราย ฟอกไตผ่านเครื่อง 1,710 ราย และปลูกถ่ายไตรับยากดภูมิ 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ย้ายมาจากสิทธิสวัสดิการข้าราชการ 111 ราย และประกันสังคม 158 ราย ขณะเดียวกัน มีผู้ป่วยไตระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ย้ายไปสิทธิข้าราชการ 5 ราย ประกันสังคม 34 ราย ซึ่งผู้ป่วยไตเหล่านี้ไม่ว่าจะย้ายไประบบรักษาพยาบาลใดจะได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง
นพ.วินัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้ผู้ป่วยไตได้รับการรักษาต่อเนื่องที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่า ในส่วนของผู้ป่วยไตในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รับการล้างไตผ่านช่องท้อง ในกรณีที่ย้ายไประบบสวัสดิการข้าราชการจะไม่ได้รับการจัดส่งน้ำยาล้างไตไปที่บ้านเช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยผู้ป่วยจะต้องเดินทางมารับน้ำยาล้างไตเองยังโรงพยาบาล ซึ่งปัญหานี้จะต้องมีการประสานเพื่อทำการปรัปรุงต่อไป
“การบูรณการสิทธิบำบัดทดแทนไต 3 กองทุนรักษาพยาบาล มีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้ผู้ป่วยไตทั้ง 3 ระบบ ได้รับการดูแลมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน เข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนย้ายสิทธิรักษาพยาบาลก็ตาม นับเป็นตัวอย่างการบูรณาการบริหารจัดการร่วมกันของ 3กองทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ได้มีการบูรณาการสิทธิการรักษาในด้านอื่นๆ อาทิ โรคเอดส์ กองทุนรักษาพยาบาลฉุกเฉิน และการบริหารจัดการยาราคาแพง เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่