xs
xsm
sm
md
lg

ตื่น! พม่าพบอีโบลาเดินทางผ่านไทย สธ.ยันมาลาเรีย แต่ต้องเฝ้าระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตื่นพม่าพบอีโบลา ซ้ำเดินทางผ่านไทย สธ. ชี้อย่าตระหนก ทางการพม่าแจ้งแล้วป่วยมาลาเรีย แต่ต้องเข้าข่ายเฝ้าระวังอีโบลาด้วย เพราะมาจากพื้นที่เสี่ยง ยันไม่ได้เข้าไทย เพียงแค่รอเปลี่ยนเครื่อง เร่งติดตามค้นไฟลต์บิน ติดตามผู้โดยสารทั้งหมดเพื่อเฝ้าระวังป้องกันอีกทาง ด้าน คกก. โรคอุบัติใหม่ ตั้งคณะทำงานห้องแล็บตรวจเชื้ออีโบลา
แฟ้มภาพ
วันนี้ (20 ส.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณา 2 เรื่อง คือ การเตรียมการรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และการเตรียมการรับสถานการณ์โคโรนาไวรัส หรือ เมอร์ส-โควี โดยเรื่องโรคอีโบลาที่ประชุมเห็นชอบให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังการระบาดทั้งในคนและสัตว์ การเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการ โดยให้จัดระบบรองรับกรณีหากจำเป็นต้องมีการกักกันด้วย และให้มีการซ้อมแผน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับห้องแล็บในการตรวจสอบเชื้ออีโบลา ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเฉพาะ มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เป็นประธาน ร่วมกับเครือข่ายห้องแล็บต่างๆ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งจะมีการพิจารณาถึงแนวทางการตรวจสอบ การส่งต่อ การยืนยันเชื้อ และการเสนอผลต่อสาธารณะอย่างถูกต้องโปร่งใส

“ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารความเสี่ยง โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน ทั้งนี้ ให้มีการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ควบคู่กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 หากเกิดกรณีพบโรคอีโบลาในไทย รวมถึงโรคเมอร์ส-โควี ด้วย และให้มีการประชุมอีก 3 เดือนเพื่อติดตามสถานการณ์” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมโรคอีโบลา สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตว่าให้ดำเนินการเรื่องของระยะเร่งด่วนก่อน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ รวมทั้งห้องแล็บ ซึ่งจะมีการพัฒนาชุดทดสอบเชื้ออีโบลาขึ้น ส่วนระยะกลางและยาวจะเป็นการพัฒนาห้องแล็บระยะยาว ให้อนุกรรมการยุทธศาสตร์และอนุกรรมการวิชาการ ไปพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ คสช. ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพบชาวพม่าป่วยโรคอีโบลา ซึ่งเดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย โดยมีการเดินทางผ่านประเทศไทยด้วย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ชายชาวพม่าดังกล่าวอายุประมาณ 22 ปี จัดเป็นกลุ่มต้องสงสัยเท่านั้น ยังไม่พบว่าป่วยโรคอีโบลา โดยชายดังกล่าวเป็นผู้โดยสารรอเปลี่ยนเครื่อง ไม่ได้เข้ามาในด่านตรวจโรคของไทย แต่เมื่อเปลี่ยนเครื่องไปยังพม่า จึงถูกระบบตรวจจับของพม่าตรวจจับ โดยอาจมีการซักประวัติหรือมีไข้ ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรค (คร.) กำลังประสานกับพม่าอยู่ว่าขึ้นเครื่องบินไฟลต์ใด เวลาใด เพื่อติดตามว่ามีคนไทยหรือใครอยู่ในสายการบินนี้หรือไม่ เพื่อหารายชื่อพร้อมติดตามตัวและเฝ้าระวังต่อไป

“สธ. อยู่ระหว่างประสานกับทางสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินต่างๆ ว่าจะเข้าไปตรวจสอบหรือดำเนินการเพื่อป้องกันโรคอย่างไร โดยในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมินั้น คาดว่าจะขอประสานลงพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีการหารือว่าจะมีมาตรการในการป้องกันโรคจุดเปลี่ยนเครื่องอย่างไรด้วย” ปลัด สธ. กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า การตรวจผู้โดยสารขาออกก็สำคัญ โดยองค์การอนามัยโลกได้ย้ำให้ประเทศที่มีการระบาดมีมาตรการเข้มในการตรวจผู้โดยสารขาออกอย่างเข้มงวด เพราะหากตรวจสอบดีแล้ว ก็จะช่วยให้ประเทศปลายทางลดความเสี่ยงลง

นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ชาวพม่ารายนี้ มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกินี และมีประวัติเดินทางไปในหลายประเทศ ทั้ง อาบูดาบี โมร็อกโก ส่วนประเทศไทยนั้น เป็นการต่อเครื่องของสายการบินเพื่อกลับไปยังพม่า จึงไม่ได้ผ่านด่านตรวจโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะไม่ถือว่าเข้ามาในประเทศไทย และทางการพม่าได้แจ้งว่า เป็นการป่วยโรคมาลาเรีย แต่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเข้าข่ายเฝ้าระวังอีโบลา เพราะเดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด ทั้งนี้ มาตรการการตรวจสอบของไทยยังคงเดิม มีทั้งการตรวจคัดกรองที่สนามบิน และความพร้อมของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นขอให้ประชาชนคลายความกังวล

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น