xs
xsm
sm
md
lg

ฝากแม่พิมพ์สอนเด็กผันไวยากรณ์ให้แม่นยำ แก้ปัญหาใช้ภาษาเพี้ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วธ. มอบรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ขอทุกภาคส่วนร่วมสร้างค่านิยมใช้อย่างถูกต้อง ด้านปูชนียบุคคลภาษาไทย ย้ำการใช้ภาษาของวัยรุ่นเป็นวัฒนธรรมเพียงชั่วขณะ ฝากแม่พิมพ์สอนเด็กผันไวยากรณ์ให้แม่นยำ แก้ปัญหาใช้ภาษาเพี้ยน

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2557 พร้อมมอบรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย และรางวัลเพชรในเพลง เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ซึ่งปีนี้มีองค์กรที่มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย 7 แห่ง รวมถึงบุคคลสำคัญ นักประพันธ์เพลง ศิลปินที่มีชื่อเสียงเข้ารับรางวัลจำนวน 49 คน เข้ารับรางวัล อาทิ น.ส.เขมสรณ์ หนูขาว นายปองศักดิ์ รัตนพงษ์ (อ๊อฟ ปองศักดิ์) น.ส.หนึ่งธิดา โสภณ (หนูนา) นายสุธิราช อุสุภะ (กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ อาร์สยาม) นายประยูร ศรีจันทร์ (ไผ่ พงศธร) นางสาวชลดา ทองจุลกลาง (ตั๊กแตน ชลดา)

ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีภาษาพูด ภาษาเขียน เป็นของตัวเอง ชี้ให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของชนชาติไทยที่สามารถดำรงเป็นเอกลักษณ์มาอย่างยาวนาน จากความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ และยุคของเทคโนโลยีได้คิดค้นวิธีการสื่อสารใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่น การสื่อสารผ่านไอโฟนมีผลต่อภาษาพูด อ่าน เขียน อย่างไรก็ตาม ภาษามีชีวิตแปรเปลี่ยนได้ บางครั้งคำๆ หนึ่งก็ได้รับคำนิยมเพียงแค่ยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น เช่น คำว่า ฮัลโล แท็กซี่ พริตตี้ โฮเทล วิดีโอ ไลน์ รวมไปถึงคำที่ใช้ผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ น่าร๊อคอะ ฝุดๆ ขออำไพ จุงเบย คริคริ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังนิยมตั้งชื่อเล่น ชื่อจริงเป็นภาษาอังกฤษ เช่น อ๊อฟ พันซ์ ครีม ไมค์ ซาร่า เจนนี่ พอลล่า เป็นต้น ไม่ได้อยู่แต่ในพจนานุกรมอย่างเดียว แต่มีการใช้ ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เจนี่ พอลล่า วธ. ตระหนักในปัญหาดังกล่าวว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาภาษาไทย สร้างค่านิยมช่วยกันส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่น รวมถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพและเยาวชนต่อไป

ด้าน รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ผู้ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กล่าวว่า การที่สังคมมองว่าวัยรุ่นทำให้ภาษาไทยวิบัตินั้น ส่วนตัวมีความคิดเห็นว่า ต้องทำใจว่าภาษาเป็นวัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ภาษาของวัยรุ่นเป็นภาษาที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ เพราะเด็กรับค่านิยมไม่ว่าจะเป็นเกาหลี หรือญี่ปุ่น รวมถึงการใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งเฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ ที่จะใช้คำสั้นๆ สื่อสารเพื่อความรวดเร็ว ทำให้พยัญชนะบางตัวหายไป เห็นได้ชัด คือ ไม้ไต่คู้ เช่น คำว่า เห็น เขียน เป็น เหน เสร็จ เป็น เสด อย่างไรก็ตาม คำเหล่านี้จะไม่มีความยั่งยืน จึงไม่อยากให้มองว่า เด็กเป็นผู้ทำลายภาษาอย่างเดียว อยากให้มองมุมกลับ ภาษาที่เด็กใช้สมัยนี้จะได้บันทึกประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างคำที่ฮิตในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า 5 แต้ม ที่หมายถึงการทำอะไรเปิ่นๆ แต่เด็กสมัยนี้ไม่ใช้ และไม่รู้จักความหมายของคำนี้

“ภาษาที่เด็กใช้ทำให้เราได้คำใหม่ๆ ต้องบอกว่าเด็กเป็นผู้บันทึกภาษา เขาพูดตามที่เขารู้ เป็นวัฒนธรรมการพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวันแต่ภาษาเหล่านี้มาใช้เขียนเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการใช้ภาษาไทยในในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระดับขั้นพื้นฐาน หรืออุดมศึกษา สิ่งที่น่าห่วงก็คือ การสอนของครูในปัจจุบันจะไม่แม่นในเรื่องของการใช้ไวยากรณ์ การผันวรรณยุกต์ต่างๆ ทำให้เด็กผันและใส่วรรณยุกต์ผิดไปจากรากศัพท์เดิม เพราะฉะนั้นครูที่สอนภาษาไทยต้องแม่นแล้วปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัย” รศ.ประพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น