xs
xsm
sm
md
lg

พูดเกินจริง! “แบคทีเรียกินเนื้อคน” หมอแนะอย่าปล่อยแผลเน่า ป้องกันเชื้อลุกลามได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค คาด ชายถูกเงี่ยงปลาตำ ติดเชื้อเสียชีวิต อาจเกิดจากแบคทีเรีย 2 กลุ่มที่มีฤทธิ์รุนแรง ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อ ระบุตัวที่อยู่ในน้ำเน่าและดินคือ “เนโครไทซิง ฟาสซิไอติส” ชี้ “แบคทีเรียกินเนื้อคน” พูดเกินจริง แนะอย่าปล่อยให้แผลเน่า รักษาถูกวิธีป้องกันได้

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีข่าวชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกเงี่ยงปลาตำ ขณะเลือกซื้อปลาทับทิมในตลาด และมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดกินเนื้อมนุษย์ ว่า เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวคาดว่า อาจมาจากเชื้อแอนแอโรบิกแบคทีเรีย (Anaerobic Bacteria) และเชื้อแอโรโมแนสแบคทีเรีย (Aeromonas Bacteria) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าแบคทีเรียตัวอื่นหลายเท่า อยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อ และลามไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดจนช็อกเสียชีวิตในเวลา 48 ชั่วโมง ผู้ที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อคือ คนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะหากเป็นแผลเชื้อจะลามมากกว่าคนทั่วไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า แบคทีเรียกินเนื้อคนเป็นเรื่องที่พูดเกินจริง เพราะปกติแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมหลายชนิดก็มีการทำให้เกิดการติดเชื้อที่บาดแผล ในกล้ามเนื้อ ทำลายเนื้อเยื่อ และลุกลาม โดยเฉพาะกรณีแผลลึก ทำให้มีไข้สูง ปวดบริเวณแผล หากรักษาไม่ถูกต้องอาจเสียชีวิตได้ 5 - 7 วัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยประเทศไทยมีรายงานการเสียชีวิตจากเหตุนี้ประปราย ไม่มีการเก็บสถิติ อย่างช่วงสึนามิก็พบผู้เสียชีวิตจากเหตุนี้หลายราย อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวมีหลายตัว แต่ที่พบในน้ำเน่าและดิน เรียกว่า เชื้อแบคทีเรียเนโครไทซิง ฟาสซิไอติส (Necrotizing Fasciitis) หากติดเชื้อนี้แล้วดูแลรักษาแผลอย่างดีก็ไม่เป็นอันตราย หากปล่อยให้แผลเน่าอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดได้

“ส่วนน้ำในสระว่ายน้ำ หรือน้ำประปาไม่มีปัญหาเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ แต่เพื่อความมั่นใจ แม้เกิดบาดแผลเล็กน้อยระหว่างสัมผัสกับน้ำสกปรก ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก สำหรับข้อความที่ส่งกันทางไลน์บอกว่าเสียชีวิตใน 2 วัน ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อที่บาดแผล ติดเชื้อในกล้ามเนื้อ ทำลายเนื้อเยื่อนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด” รองอธิบดี คร. กล่าว

ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเพื่อนของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ทราบข่าวเนื่องจากเพื่อนโทรศัพท์มาปรึกษาอาการ โดยพบว่าไปเลือกซื้อปลาในวันที่ 18 ก.ค. จากนั้นมีอาการปวดในวันที่ 20 ก.ค. ไปหาแพทย์ ซึ่งก็ล้างแผลปกติ ต่อมาหกล้มตรงบริเวณบันได มีอาการขาบวม ไปพบแพทย์ก็พบว่าติดเชื้อแล้ว กระทั่งมาทราบอีกทีว่าเสียชีวิต

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น