รพ.จุฬาฯ พัฒนาการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยผู้ป่วยสูงอายุลดเสี่ยงเสียชีวิตจากการผ่าตัด กลับบ้านใช้ชีวิตตามปกติได้ไว ระบุหากบรรจุลงชุดสิทธิประโยชน์ช่วยให้เข้าถึงการรักษามากขึ้น หลังพบการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผู้สูงอายุในไทยปีละไม่ถึง 10 ราย เผยใช้ลิ้นหัวใจชนิดใหม่ “ไฮดรา” ผลิตในไทย คาดราคาถูกกว่านำเข้า
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการพัฒนานวัตกรรมใหม่ “การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด” ว่า ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ คือ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Trancatheter Aortic Valve Implantation : TAVI) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงจากการผ่าตัด โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว นับเป็นการคิดค้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย และพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนให้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้นำเสนอการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านเอออร์ติกสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมการทำหัตถการสวนหัวใจเพื่อรักษาผู้ป่วยโครงสร้างหัวใจผิดปกติในการประชุม Cardiac Structural Intervention (CSI) 2014 ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต สาธารณรัฐเยอรมนี ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า “Chula TAVI ทีม” ประกอบด้วย แพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์ทรวงอก วิสัญญีแพทย์ พยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤต เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และพยาบาล ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ประชุมพิจารณาคัดเลือกผู้ป่วย และดูแลติดตามผู้ป่วยโรคหัวใจร่วมกัน ทั้งช่วงก่อนผ่าตัด ไปจนถึงหลังผ่าตัด ถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาดังกล่าวราคาค่อนข้างสูง และยังไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนใดรองรับ โดยราคาลิ้นหัวใจชนิดคอร์ วาล์ว และ เซเปียน วาล์ว ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาจำกัด ซึ่งปัจจุบันได้มีการใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดราที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย คาดว่ามีราคาถูกกว่าประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม หากบรรจุเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ก็น่าจะช่วยผู้ป่วยได้มาก ส่วนขณะนี้ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้การรักษาด้วยวิธีนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยใช้เงินบริจาคของโรงพยาบาล
รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ลิ้นหัวใจมีหน้าที่ช่วยให้เลือดที่ออกจากหัวใจ โดยไม่ให้ไหลย้อนกลับ สาเหตุที่ทำให้ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบเป็นผลมาจากความเสื่อมของตัวลิ้น เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีแคลเซียมหรือหินปูนมาเกาะ โดยโรคภาวะลิ้นหัวใจตีบ เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยอุบัติการณ์ทั่วโลกพบว่า ในคนอายุ 70 ปีที่ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจนั้น ร้อยละ 50-60 เป็นการป่วยด้วยภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ สำหรับอาการคนไข้อาจไม่มีอาการแสดงออกเลยเป็นเวลานาน แต่ถ้ามีอาการคือเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก เป็นลมเวลาออกแรง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อมีอาการจะเสียชีวิตได้ภายในเวลารวดเร็ว เฉลี่ยคือภายในเวลา 2 ปี ถือว่ารุนแรงไม่ต่างจากโรคมะเร็ง
รศ.นพ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาปัจจุบันคือผ่าตัดเปิดหน้าอกเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่ปัญหาคือผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากในการผ่าตัด เนื่องจากมักมีโรคประจำตัวอย่างอื่นร่วม โอกาสเสียชีวิตขณะผ่าตัดอาจสูงถึง 10-30% ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุเข้าถึงการรักษาน้อย โดยในต่างประเทศผู้ป่วยประมาณ 30-50% ไม่ได้รับการรักษา ส่วนในไทย ข้อมูลจากสมาคมศัลยศาสตร์ทรวงอกประเทศไทย พบว่า ผู้สูงอายุได้ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจปีละไม่ถึง 10 ราย การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน จึงเป็นอีกทางเลือกที่ลดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้
นพ.วศิน พุทธารี แพทย์หน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ก่อนจะทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แพทย์จะทำการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย หากพบว่าการผ่าตัดหน้าอกที่เป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบันแล้วมีความเสี่ยงมากขึ้น ก็จะใช้วิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งทำโดยการสอดสายสวนที่ส่วนปลายมีลิ้นหัวใจเข้าไปทางเส้นเลือด โดยตำแหน่งที่ใช้บ่อยสุด คือ เส้นเลือดแดงใหญ่ที่ต้นขาหนีบ นอกจากนี้ ยังสามารถใส่ได้ทางเส้นเลือดไหปลาร้าข้างซ้าย เข้าทางหน้าอกโดยตรงแต่จะเป็นเพียงแผลขนาดเล็ก หรือเข้าทางหน้าอกแล้วใส่เข้าไปยังหัวใจโดยตรง โดยอาศัยการฉีดสีเพื่อดูตำแหน่งผ่านการเอกซเรย์ เพื่อนำลิ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นจึงดึงสายสวนออก ลิ้นใหม่ซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออยู่ในโครงโลหะที่กางออกจะไปเกาะหินปูน โดยดันลิ้นเดิมให้ออกไปด้านข้างเพื่อทำหน้าที่แทน ในการเปิดปิดส่งผ่านเลือดให้เป็นปกติ
“รพ.จุฬาลงกรณ์เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 31 ราย จากการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยนานกว่า 6 เดือน ซึ่งในจำนวนนี้ 25 รายติดตามนานเกินกว่า 2 ปี พบว่า เสียชีวิต 2 รายจากโรคไตวาย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ใส่เครื่องกำกับการเต้นของหัวใจ 3 ราย ภาวะหัวใจล้มเหลวต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2 ราย โรคถุงลมโป่งพองกำเริบ 1 ราย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคอื่นๆ 4 ราย” นพ.วศิน กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่