xs
xsm
sm
md
lg

ส่องสปีชีส์แมงมุมพิษ “แม่ม่ายดำ-แมงมุมสีน้ำตาล-ทารันทูลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีหนุ่มแพร่ถูกแมงมุมพิษกัดอาการสาหัส จนเป็นข่าวดังในช่วงนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการออกข่าวว่า เป็นแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแย้งว่า ไม่น่าจะใช่แมงมุมพิษชนิดนี้ เพราะอาการป่วยที่แสดงออกมายั้น ต่างกันโดยชัดเจน

ท่ามกลางความสับสนว่า แมงมุมพิษร้ายนั้น แท้จริงแล้วคือแมงมุมพิษชนิดใดกันแน่ ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช แถลงข่าวผลพิสูจน์ซากแมงมุม กรณีผู้ป่วยถูกแมงมุมพิษกัดที่ จ.แพร่ ว่า จากการพิจารณาอาการของผู้ป่วยเข้าได้กับกลุ่มอาการที่เรียกว่า “ลอกโซเซลิซึม (Loxoscelism)” ซึ่งเกิดจากแมงมุมพิษสีน้ำตาลในกลุ่มลอกโซเซเลส สปีชีส์ (Loxosceles Species) เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณรอยกัด ต่อมาผิวหนังบริเวณโดยรอบที่กัดมีการบวม เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินคล้ำ และมีถุงน้ำสีน้ำเงินออกม่วง นอกจากนี้ ยังมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ การทำงานของตับและไตผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ และติดเชื้อแทรกซ้อนในกระแสโลหิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาหดหลอดเลือด การฟอกไต และการผ่าตัดแผลที่ติดเชื้อ

“อาการป่วยเช่นนี้เป็นคนละกลุ่มกับแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล แต่อาจมีการสับสนเกี่ยวกับชื่อได้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน ซึ่งอาการของผู้ป่วยที่ถูกแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลกัดจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง อาจมีเหงื่อไหลออกมาก ปวดเกร็งกล้ามเนื้อท้อง ปวดขา อาการจะเด่นทางระบบประสาท และแผลไม่มีการอักเสบเช่นผู้ป่วยรายนี้” พญ.ธัญจิรา กล่าว

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเข้าใจในลักษณะของแมงมุมพิษให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงขอนำบทความเรื่องแมงมุม ที่ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.พญ.สุภัทรา เตียวเจริญ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มาเผยแพร่ให้ได้ทำความเข้าใจ ดังนี้

แมงมุมจัดอยู่ใน Class Arachnida, Order Araneae พบได้ทั่วโลก มีประมาณ 30,000 ชนิด แมงมุมส่วนใหญ่มีประโยชน์ช่วยในการคุมแมลงที่เป็นพาหะนำโรคต่างๆ เพราะแมงมุมกินสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่นเป็นอาหาร แมงมุมกินอาหารจำพวก เพลี้ยอ่อน, ตัวหนอน, ผีเสื้อ, แมลงวัน, ยุง, ปลวก, ด้วง, มด เป็นต้น จึงมีความสำคัญในระบบนิเวศทางการเกษตร และระบบนิเวศทั่วไป โดยส่วนใหญ่เมื่อจะล่าเหยื่อจะสร้างใยเพื่อเป็นรังอาศัย และดักเหยื่อ ในขณะที่บางชนิดไม่สร้างใยก็มี ซึ่งก็จะมีการใช้เส้นใยที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับรูปแบบการอยู่อาศัยของแมงมุมในแต่ละชนิดในพื้นที่นั้น

แมงมุมทุกชนิดมีพิษสำหรับใช้จับเหยื่อโดยปล่อยพิษทางเขี้ยวพิษ แมงมุมมีขนาดตั้งแต่ 0.3 - 24.0 เซนติเมตร ลำตัวแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วน cephalothorax (ส่วนหัวและอกรวมเป็นชิ้นเดียว) และส่วนท้องซึ่งไม่แบ่งเป็นปล้อง ด้านหน้าของส่วนท้องที่เชื่อมต่อกับส่วน cephalothorax มีลักษณะเป็นก้านเล็กๆ เรียกว่า pedicel มีเขี้ยวพิษ 1 คู่ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากส่วนปาก มีขา 4 คู่ อวัยวะที่ใช้หายใจ และอวัยวะสร้างใยอยู่ที่ส่วนท้อง ชนิดที่มีความสำคัญทางการแพทย์ ได้แก่ แมงมุมแม่ม่ายดำ (Latrodectus spp.) แมงมุมสีน้ำตาล (Brown recluse) แมงมุมบางชนิดมีพิษไม่รุนแรง แต่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น Turantula spp.
แมงมุมแม่ม่ายดำ
แมงมุมแม่ม่ายดำ (Black widow spider) อยู่ใน Family Theridiidae พบกระจายทั่วโลก species ที่สำคัญคือ Latrodectus mactans (hourglass spider, shoe-button spider, Pokomoo), Latrodectus varinolus, Latrodectus besperus, Latrodectus geometricus พบในเม็กซิโกตอนเหนือ ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย และโอเรกอน ลักษณะตัวดำเป็นมัน ตัวเมียขนาดประมาณ 30 - 40 มิลลิเมตร ตัวผู้ขนาด 16-20 มิลลิเมตร มีลวดลายคล้ายรูปนาฬิกาทรายสีแดงส้มอยู่ด้านใต้ส่วนท้อง อาศัยอยู่ในบ้าน ในที่มืดอับ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ผสมพันธุ์กันในฤดูใบไม้ผลิ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวผู้อาจถูกตัวเมียกินหรือจากไปผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่น แมงมุมตัวเมียวางไข่ได้ครั้งละ 200 - 750 ฟอง โดยสร้างเส้นใยที่แข็งแรงห่อหุ้มไข่ไว้ ไข่ใช้เวลาฟักนาน 2 - 4 สัปดาห์ ตัวอ่อนที่ออกจากไข่จะถูกลมพัดไปอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตัวอ่อนที่เป็นตัวผู้จะลอกคราบ 4 - 7 ครั้ง ส่วนตัวอ่อนที่เป็นตัวเมียจะลอกคราบ 7 - 9 ครั้ง ใช้เวลา 2 - 3 สัปดาห์ถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและอาหาร ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 3 ปี ในแต่ละปีสามารถผลิตลูกได้ประมาณ 2,000 ตัว

พิษของแมงมุมชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (neurotoxin) โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผิวหนังตาย หรือมีเลือดตามอวัยวะภายในต่างๆ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบ มีการอักเสบกดรู้สึกเจ็บได้ มีเหงื่อออก ขนลุก ความดันโลหิตสูง รอยกัดเขียวช้ำ มีจุดแดง อาการที่เฉพาะของพิษคือ อ่อนแรง สั่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง ท้องแข็ง เป็นอัมพาต ซึมและชักในรายที่แพ้พิษรุนแรง

แมงมุมสีน้ำตาล (Brown recluse) อยู่ใน Family Loxoscelidae พบในสหรัฐอเมริกา มีหลายชนิด ได้แก่ Lexosceles reclusa, Lexosceles deserta, Lexosceles rufescens, Lexosceles arizonica, Lexosceles devia ขนาด 6 - 20 มิลิเมตร มีสีเหลืองน้ำตาล มีตาเดี่ยว 6 ตาเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลม และมีลวดลายคล้ายไวโอลีนอยู่ระหว่างตาเดี่ยวกับด้านหน้าของส่วนท้อง แมงมุมสีน้ำตาลออกหากินเวลากลางคืน อยู่ตามบ้านเรือน ในห้องน้ำ ห้องนอน มักซ่อนตัวอยู่ในกองเสื้อผ้าและกัดคนที่สวมใส่เสื้อผ้าในตอนเช้า นอกบ้านพบได้ตามก้อนหิน ทราย จะต่อสู้เมื่อมีศัตรูบุกรุกที่อยู่ของมัน

พิษของแมงมุมชนิดนี้มีทั้ง necrotic และ hemolytic แต่ไม่มีพิษต่อระบบประสาท พิษเหล่านี้จะทำปฏิกริยาที่เยื่อหุ้มเซลล์ทำให้เซลล์ตาย เมื่อถูกกัดมักจะไม่มีอาการในระยะแรก แต่หลังจากนั้น 3 - 8 ชั่วโมง จะเริ่มมีรู้สึกเจ็บ บวมแดง มีการอักเสบ เป็นผื่น แผลเริ่มมีสีดำไหม้ เป็นหนอง ขนาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 - 2.5 เซนติเมตร ขอบแผลยกขึ้น ใช้เวลาประมาณหลายเดือนแผลจึงหายสนิท ในบางรายที่พิษเข้าสู่กระแสโลหิต ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะขัด โลหิตจาง เป็นไข้ ตัวเขียว และอาจเสียชีวิต
ทาลันทูลา
ทารันทูลา (Turantula) แมงมุมชนิดนี้จัดอยู่ใน Family Theraphosidae มีประมาณ 30 ชนิด พบในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีขนาดใหญ่ ขนยาวรุงรัง ขนาดประมาณ 18 - 20 เซนติเมตร มี chelicerae ขนาดใหญ่ยื่นออกมาจากส่วนหัว เคลื่อนที่ขึ้นลง แมงมุมชนิดนี้หลบซ่อนตัวอยู่ในรูใต้ก้อนหิน ในช่วงกลางวันจะเคลื่อนตัวช้า ออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืนบริเวณไม่ไกลจากรูที่อยู่ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะออกจากรูไปหาตัวเมีย ฤดูหนาวจะจำศีลอยู่ในรู หลังจากตัวอ่อนออกจากไข่ใช้เวลานาน 10 - 12 ปีจึงเจริญเป็นตัวเต็มวัย ตัวผู้อายุไม่เกิน 1 ปี ในขณะที่ตัวเมียมีอายุ 15 - 20 ปี พิษของแมงมุมชนิดนี้ไม่รุนแรง ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีการอักเสบ พิษเป็นอันตรายต่อแมลงและสัตว์ชนิดอื่นเท่านั้น

พิษประกอบด้วยสารประเภท hyaluronidase บางคนอาจมีอาการแพ้รุนแรงจากขนที่อยู่ด้านบนของส่วนท้อง เมื่อสัมผัสจะมีอาการคันผิวหนัง เป็นตุ่มนานหลายสัปดาห์ ถ้าขนเข้าไปในตาอาจเกิดอาการคล้าย opthalmia nodosa ได้ การรักษาอาการพิษของแมงมุมทำได้โดยทำการล้างแผลให้สะอาด ไม่ขยับแขนขาที่ถูกกัด พันด้วยผ้าพันแผลเพื่อลดการกระจายของพิษ ประคบบริเวณแผลด้วยน้ำแข็ง อาจระงับการปวดด้วยยาแก้ปวดหรือให้ meperidine (Demerol) หรือ morphine ถ้าแสดงอาการรุนแรงใช้ยาต้านพิษ (Lyovac) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ให้ Dexamethasone 4 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมงเพื่อลดปฏิกิริยาของร่างกาย หรือฉีด 10% Calcium Gluconate 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมงเพื่อแก้ไขภาวะกล้ามเนื้อเกร็ง ในกรณีที่มีเนื้อตายควรทำการตัดบริเวณที่ตายนั้นทิ้งไป อาจให้ Dapsone 100 มิลลิกรัม รับประทานเช้าเย็น แต่ควรระวังการให้ยานี้แก่ผู้ป่วย G-6 PD deficiency ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และอาจให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น