xs
xsm
sm
md
lg

“ราชบัณฑิต” ห่วงใช้คำหยาบ-รุนแรงในเฟซบุ๊ก ละคร ดึงคนดังต้นแบบใช้ภาษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ราชบัณฑิต” ห่วงใช้คำหยาบ คำรุนแรงในเฟซบุ๊ก ชี้แม้แต่รายการทีวี หรือละครก็พบนำคำสบถไม่เหมาะสมมาใช้ หวั่นใช้กันจนเหมือนเป็นคำพูดปกติในชีวิตโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มักใช้คำหยาบ พร้อมเผยวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. นี้ ปรับรูปแบบไม่จัดงาน แต่ผลิตรายการโทรทัศน์ “สื่อ สาน ไทย” ดึงคนดังทุกแวดวงทั้งสื่อมวลชน ดารา นักแสดง มาร่วมเป็นต้นแบบใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง พร้อมฝากสื่อมวลชนใช้ภาษาปากแทนภาษาเขียนให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

วันนี้ (9 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่ราชบัณฑิตยสถาน น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตสถาน เปิดเผยว่า ราชบัณฑิตยสถานมีความเป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษาไทยในสื่อโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีการใช้คำหยาบ คำรุนแรงกันมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้โพสต์ข้อความมองว่าการสื่อสารในเฟซบุ๊กไม่ต้องรับผิดชอบ จึงไม่มีการระมัดระวังใช้คำรุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการแสดงความคิดเห็น หรือ คอมเมนต์ (comment) ที่บางครั้งเมื่อเข้าไปอ่านรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องต่อว่ากันด้วยถ้อยคำรุนแรงขนาดนั้น โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาที่มีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น จะพบได้ว่าการใช้ภาษาที่แสดงออกค่อนข้างก้าวร้าว ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แม้แต่ในรายการโทรทัศน์ หรือละครก็มีการใช้คำหยาบเพิ่มขึ้น เช่น ตัวละครพูดคำสบถ หรือพิธีกรในบางรายการก็เผลอนำคำสบถที่พูดหยอกล้อในหมู่เพื่อนมาพูดในรายการ เพราะฉะนั้น ราชบัณฑิตฯ จึงเป็นห่วงว่าหากมีการใช้คำหยาบกันบ่อยๆ ก็จะเห็นคำเหล่านี้เป็นคำธรรมดาและพูดกันจนเคยชินในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ปัจจุบันก็มักใช้คำหยาบคายพูดคุยกันในหมู่เพื่อนค่อนข้างมาก

ไม่ใช่แค่การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมในแวดวงโซเชียลฯ เท่านั้นที่น่าเป็นห่วง ในส่วนของการใช้ภาษาของสื่อสารมวลชนในเขียนข่าว บทความ ราชบัณฑิตฯ ก็มีความเป็นห่วงเช่นกันเพราะมักจะพบว่ามีการนำภาษาที่ไม่เป็นทางการเข้า หรือภาษาปาก เข้ามาใช้ปะปนในภาษาเขียน ซึ่งราชบัณฑิตฯ ก็เข้าใจว่าสื่อสารมวลชนจำเป็นต้องใช้ภาษาที่น่าสนใจ มีความกระชับ แต่ก็อยากจะเน้นย้ำว่าควรต้องให้ถูกกาลเทศะ โดยการเขียนที่ใช้ภาษาปากและภาษาเขียนมาปะปนกันนั้นอาจจะเหมาะสมกับการใช้ในบางโอกาส แต่ในโอกาสที่จะเป็นต้องเขียนให้ถูกกาลเทศะก็ไม่ควรเขียนปะปนกัน” น.ส.กนกวลี กล่าว

เลขาธิการราชบัณฑิตฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีและปกติราชบัณฑิตฯ จะจัดงานโดยมีหัวข้อที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับในปี 2557 นั้น ราชบัณฑิตฯ จะเปลี่ยนรูปแบบโดยรณรงค์ให้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน นักแสดง ศิลปิน รายการโทรทัศน์ และรายการวิทยุใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อสื่อสารมวลชนต่างๆ เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแก่สังคมและให้สื่อช่วยสื่อสารความเป็นไทย ซึ่งปีนี้ชูแนวคิดหลัก “ภาษาไทย ภาษาสื่อ” พร้อมทั้งผลิตรายการโทรทัศน์ครั้งแรกในชุด “สื่อ สาน ไทย” จำนวน 24 ตอน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.57 - 12.00 น.

รายการดังกล่าวจะมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยในสื่อด้านต่างๆ เพื่อสืบสานความเป็นไทย โดยรูปแบบรายการจะนำเสนอการสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งด้านสื่อสารมวลชน นักร้องนักแสดง รวมถึงนักวิชาการ อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), นายยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว), น.ส.สายสวรรค์ ขยันยิ่ง, นายประยอม ซองทอง, นายอธิชาติ ชุมนานนท์, นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) เป็นต้น ถึงความสำคัญของภาษาไทย และการนำภาษาไทยไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดความนิยมใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม

นอกจากนี้ ทุกปีราชบัณฑิตฯ จะจัดพิมพ์หนังสือเพื่อแจกเยาวชน ประชาชน และผู้ร่วมงานแต่ปีนี้เนื่องจากปีนี้ไม่ได้จัดงานและยังอยู่ระหว่างจัดพิมพ์หนังสือ “ภาษาไทย ภาษาสื่อ” จำนวน 10,000 เล่ม ซึ่งจะแจกภายหลัง ขณะเดียวกัน ผู้ที่ต้องการนำรายการ “สื่อ สาน ไทย” ไปเผยแพร่ต่อทางราชบัณฑิตฯ ก็ยินดีซึ่งจะส่งมอบได้ภายหลังออกอากาศแล้ว 90 วัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น