xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชี้แม่วัยรุ่น กระทบเศรษฐกิจ-สังคม จี้คลอด พ.ร.บ.สกัดคุณแม่วัยใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยชี้แม่วัยรุ่นทำสังคมไทยกระเทือนเศรษฐกิจ สังคม ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ทั้งสุขภาพกายและใจ จี้คลอดร่าง พ.ร.บ. อนามัยการเจริญพันธุ์พัฒนาระบบข้อมูลสกัดตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ภญ.ศรีเพ็ญ ตันติเวสส นักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย 2556 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนประชากรของไทย พบว่า 10 จังหวัดที่มีอัตราการคลอดในวัย 15 - 19 ปี สูงที่สุดในประเทศไทย คือ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ระยอง อุทัยธานี กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ตราด แม่ฮ่องสอน กระบี่ เมื่อแยกเป็นรายอายุ พบว่า อัตราการคลอดบุตรของกลุ่มอายุ 10-14 ปี อัตราสูงสุดอยู่ที่ จ.นครนายก ซึ่งวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากการส่งต่อผู้ป่วยจังหวัดข้างเคียงมายังโรงเรียนแพทย์ ส่วนภาคอื่นอยู่ในอัตราต่ำ กลุ่มอายุ 15 - 17 ปี มีเพียง 5 จังหวัดที่มีอัตราการคลอดบุตรสูงมากกว่า 50 รายต่อพันประชากรในวัยเดียวกัน คือ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ระยอง อุทัยธานี และสมุทรสาคร ส่วนกลุ่ม 15 - 19 ปี ไม่พบจังหวัดใดเลยที่อัตราคลอดน้อยกว่า 25 รายต่อพันประชากร

ภญ.ศรีเพ็ญ กล่าวต่อว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งผลกระทบด้านสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจของผู้เป็นแม่และทารก ผลกระทบด้านสังคม เช่น วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย จะส่งผลให้ลูกที่เกิดมาขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากจะมีปัญหาจากการขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูลูกของบิดามารดา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทั้งระดับครัวเรือน และระดับประเทศ ทั้งนี้ นโยบายมาตรการและบริการต่างๆ ที่ภาครัฐและหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ จัดขึ้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความชุกของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอีกด้วย ซึ่งการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เมื่อปฏิบัติแล้วต้องได้รับการยอมรับในเชิงสังคมจริยธรรม การแก้ปัญหาระยะยาวให้ยั่งยืน เช่น สร้างกลไกการแก้ปัญหาที่บูรณาการงานของหน่วยงานต่างๆ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์ พัฒนาระบบข้อมูล การสร้างนโยบาย และการประเมินผล เป็นต้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น