xs
xsm
sm
md
lg

คลินิกเสริมสวยงานเข้า! อย.สั่งคุม “โบท็อกซ์” สั่งขายเฉพาะแพทย์เชี่ยวชาญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย. ออกประกาศควบคุม “โบท็อกซ์” สั่งผู้ผลิต - นำเข้าต้องพิมพ์ฉลากและจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประจำอยู่เท่านั้น พร้อมต้องจัดส่งแผนจัดการความเสี่ยงด้วย ด้านรองเลขาธิการแพทยสภาระบุ มีเพียงแพทย์เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ ระบบประสาท และผิวหนังที่เกี่ยวข้อง แต่คลินิกเสริมความงามเป็นแพทย์ทั่วไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง “มาตรการควบคุม กำกับ ดูแลผลิตภัณฑ์ Botulinum Toxin” ซึ่งโบทูลินัม ท็อกซิน หรือโบท็อกซ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเสริมความงาม มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เกิดการอัมพาตของกล้ามเนื้อ จึงนำมาใช้ฉีดลดริ้วรอยบริเวณใบหน้า ฉีดเพื่อให้หน้าเรียวลง และยกกระชับผิวหนัง เป็นต้น ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวลงนามโดย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 มีรายละเอียดสำคัญคือ ให้ผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรและ/หรือผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันทุกรายส่งแผนจัดการความเสี่ยง (Risk Managerment Plan : RMP) ของผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรและ/หรือผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันของผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ ดำเนินการดังนี้ 1. เพิ่มข้อความ “เฉพาะสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ประจำ” บนฉลาก และ 2. จำหน่ายผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ให้เป็นการเฉพาะแก่สถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะประจำอยู่ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะมีผลให้ใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งล่าสุด ประกาศฉบับดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วในเล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 113 ง หน้า 18 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2557



ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Ittaporn Kanacharoen ว่า ประกาศฉบับดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป ซึ่งจะควบคุมผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ในการพิมพ์ฉลากและการจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ พร้อมตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็นคือ 1. อย.มีอำนาจควบคุมยา ตาม พ.ร.บ.ยา 2. สถานพยาบาลและคลินิกขึ้นกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งคลินิกความงามส่วนหนึ่งยังคงเป็นแพทย์ทั่วไป ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และขึ้นกับสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลป์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตามกฎหมาย

และ 3. แพทย์ขึ้นกับแพทยสภา ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แพทยสภารับรอง มี 80 สาขา โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับยานี้ อาทิ สาขาระบบประสาท ผิวหนัง และอายุรศาสตร์ เป็นต้น จึงน่าสนใจว่ากรณีโบท็อกซ์ กับ 3 หน่วยงาน จะมีแนวทางอย่างไรต่อไป เชื่อว่าคงมีการหารือและวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเร็วๆ นี้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น